กรุงเทพฯ 23 ม.ค.- สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ จนหน้ากากชนิด N95 เริ่มขาดตลาด แม้รัฐบาลออกมาตรการแก้ฝุ่น 12 ข้อ แต่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ พร้อมเสนอให้ตั้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยเฉพาะ
ผู้หญิงคนนี้ต้องพกหน้ากากอนามัยสำรองในกระเป๋าอีก 1 ชิ้น ระหว่างรอรถเมล์ เพื่อไปทำงานในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และมีอาการแสบคอ แสบจมูกอย่างหนัก
ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยังเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง เภสัชกรที่ร้านขายยาบอกว่า หน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่ช่วยป้องกันฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เริ่มกลับมาขายดี และขาดตลาดอีกครั้ง แต่ราคาที่มีตั้งแต่ชิ้นละ 50 ถึงกว่า 100 บาท ทำให้ผู้มีรายได้น้อยอาจไม่มีเงินซื้อ จึงเสนอให้ใช้หน้ากากธรรมดาชิ้นละ 10 บาท ใส่ซ้อนกัน 2 ชั้นแทน จะช่วยป้องกันได้
ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกัน และจัดการภัยพิบัติจากนิด้า ระบุว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ปีนี้รุนแรงไม่ต่างจากปีที่แล้ว แต่หลายคนเริ่มเคยชิน และไม่ตื่นตัวกับการป้องกันตัวเอง ส่วนมาตรการแก้ไขฝุ่น 12 ข้อ ถือเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ตัวอย่างในต่างประเทศ มีการวางแผนแบบระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้เกิดผลชัดเจน อย่างจีน ควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมถ่านหิน การใช้พลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนเกาหลีใต้ รณรงค์สวมหน้ากากอนามัย ทำระบบแจ้งเตือนเมื่อฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานแล้ว ยังมีการจำกัดการใช้รถรุ่นเก่าอย่างเข้มงวด ส่วนในไทยหากจะนำวิธีการแก้ปัญหาแบบต่างประเทศมาใช้ ต้องปรับให้เหมาะกับสถานการณ์และบริบทด้วย
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเห็นว่า มีหลายหน่วยงานที่ต้องแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงเสนอให้ตั้งหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบ และมีอำนาจสั่งการ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ US-EPA ที่มีผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับภาคประชาชน จัดการสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหาดิน น้ำ และอากาศ.-สำนักข่าวไทย