นนทบุรี 22 ม.ค. – รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์สั่งสถาบันอัญมณีเสริมสร้างความเข้าใจเพชรให้ผู้บริโภคอย่างถูกต้อง หวั่นสับสนเพชรแท้ – เทียม
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าเพชรเป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้บริโภค โดยปีที่ผ่านมาตลาดการค้าเพชรเจียระไนของโลกมีมูลค่าการค้าประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศไทยสามารถส่งออกเพชรเจียระไนและเครื่องประดับแท้ได้มูลค่า 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือได้เพชรเป็นอัญมณีที่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมหาศาล และเนื่องจากเพชรธรรมชาติมีราคาสูง ทำให้ปัจจุบันมีการนำอัญมณีชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายเพชรมาใช้เลียนแบบเพชร อาทิ เพทายไร้สี (Colorless Zircon) แซปไฟร์ไร้สี (Colorless Sapphire) และเพชรสังเคราะห์ รวมทั้งมีการเรียกชื่อต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งเกิดความสับสนในหมู่ผู้บริโภค จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ดำเนินการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องในการเรียกชื่อ “เพชร” และคำศัพท์เกี่ยว “เพชร” “เพชรสังเคราะห์” และ “เพชรเลียนแบบ” เพื่อการใช้งานได้อย่างถูกต้อง
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบัน GIT กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตเพชรสังเคราะห์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและมีผู้นำเพชรสังเคราะห์มาจำหน่ายในตลาดมากขึ้น ดังนั้น องค์กรชั้นนำเก้าแห่งในอุตสาหกรรมเพชร ได้แก่ AWCD, CIBJO, DPA, GJEPC, IDI, IDMA, USJC, WDC และ WFDB ได้จัดทำมาตรฐานคำศัพท์เกี่ยวกับเพชรขึ้นมา เพื่อช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจเพชร และเครื่องประดับสามารถใช้อ้างอิงเมื่อต้องการกล่าวถึงเพชร และเพชรสังเคราะห์ โดยอ้างอิงจากมาตรฐาน ISO 18323 และ CIBJO Diamond Blue Book โดยเฉพาะในการซื้อ ขาย และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเพชร เพชรสังเคราะห์ เครื่องประดับเพชร และเครื่องประดับเพชรสังเคราะห์ รวมทั้งในใบรายงานผลจากห้องปฏิบัติการอัญมณี (Certificate / Report) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญในการซื้อขายในปัจจุบัน ตัวอย่างศัพท์ที่ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับเพชรเป็นแร่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพชรหมายถึงเพชรธรรมชาติเสมอ เพชรสังเคราะห์ (synthetic diamond) คือ สิ่งที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นให้มีคุณสมบัติทางกายภาพเช่นเดียวกับเพชร เพชรเลียนแบบ (imitation diamond/diamond simulant) เป็นสิ่งที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นโดยเลียนแบบรูปลักษณ์ภายนอกของเพชร แต่ไม่ได้มีองค์ประกอบทางเคมี คุณสมบัติทางกายภาพ หรือโครงสร้างเช่นเดียวกับเพชร อัญมณี เป็นแร่ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติและเรานำมาใช้ในเครื่องประดับด้วยเหตุผลด้านความสวยงาม ความหายาก และมูลค่าในตัวของมันเอง
ทั้งนี้ GIT ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของภาครัฐของประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีระดับมาตรฐานสากล สามารถตรวจสอบแยกเพชรธรรมชาติออกจากเพชรสังเคราะห์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำการที่อัญมณีและเครื่องประดับผ่านการตรวจสอบและได้ใบรับรองจาก GIT ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภคว่าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน GIT ยังได้ดำเนินโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ที่ซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทย โดย GIT มอบตราสัญลักษณ์ BWC แก่ร้านค้าและบริษัทที่ประกอบกิจการอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จำหน่ายสินค้าคุณภาพ มีใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจาก GIT เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย