กรุงเทพฯ 20 ม.ค. – 4 สมาคมพลังงานทดแทน เสนอ 3 แนวทางออก ทีโออาร์ รฟ.ชุมชน เดือน ก.พ.นี้ ให้ใช้วิธีจับฉลาก ในพื้นที่เสนอขายไฟฟ้าเกินกว่ากำลังรองรับของสายส่ง
หลังจากที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ได้ออกมาระบุว่าจะออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ (ทีโออาร์ ) โรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ ภายในเดือน กุมภาพันธ์นี้ เมื่อเร็วๆ นี้ 4 สมาคมพลังงานทดแทน ประกอบด้วย สมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชน ,สมาคมการค้าชีวมวลไทย,สมาคมการค้าพลังานขยะ และสมาคมผู้ผลิตหม้อน้ำและภาชนะรับแรงดันไทย ได้ทำหนังสือ ถึง รมว.พลังงาน เสนอแนะในการจัดทำทีโออาร์ว่า ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมและการจ้างงานภายในประเทศ โดยกำหนดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ หรือ Local Content ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของงบลงทุนโครงการ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ ตามเป้าหมายของรัฐบาล
นอกจากนี้ควรพิจารณาคัดเลือกด้วยวิธีการให้คะแนนโดยไม่มีการประมูล ทั้งผลประโยชน์ที่เสนอแก่ชุมชนและราคารับซื้อไฟฟ้า หากพื้นที่ใด มีการเสนอขายไฟฟ้าเกินกว่า ปริมาณที่รับซื้อให้ใช้วิธีจับฉลาก คัดเลือกอย่างยุติธรรม และบริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ควรมีทุนจดทะเบียน บริษัทรวมไม่น้อยกว่า10 ล้านบาท โดยบริษัทหรือกลุ่มบริษัทสามารถเสนอโครงการเข้าร่วมได้สูงสุดไม่เกิน 20 โครงการ
นายยงยุทธ จันทโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ในฐานะเลขานุการในคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน กล่าวว่า ในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณา ทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบแล้ว โดยคะแนนส่วนใหญ่ ให้เรื่องผลประโยชน์ต่อชุมชน เป็นหลัก ร้อยละ 60 และด้านเทคนิคร้อยละ 40 มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย และสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย เป็นต้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สกพ.) กล่าวว่า ได้หารือ กับ 3 การไฟฟ้า ในการประกาศพื้นที่รับไฟฟ้า ตามกำลังรองรับสายส่งไฟฟ้า ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจากการลงทุนขยายสายส่ง ในภาคอิสาน ดังนั้น พื้นที่นี้จึงสามารถรับไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ โดย สกพ.จะมีการประกาศหลักเกณฑ์คู่ขนาน กับการประกาศทีโออาร์ของกระทรวงพลังงาน หากพื้นที่ใด หรือชุมชนใด มีความพร้อมก็และ จับคู่ได้กับพื้นที่สายส่งรองรับ หรือMatch ด้วยกันได้ดี ก็จะสามารถดำเนินการได้ . – สำนักข่าวไทย