กรุงเทพฯ 16 ม.ค. – กรมชลฯ จับมือการประปาส่วนภูมิภาคจัดหาแหล่งน้ำเสริมผลิตประปา แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค จ.บุรีรัมย์ หลังปริมาณน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง มั่นใจจะมีน้ำเพียงพอจนถึงต้นฤดูฝน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 8 ประชุมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีผู้อำนวยการการประปาส่วนภูมิภาคเขต 8 ผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคทั้ง 5 สาขาจังหวัดบุรีรัมย์ หารือถึงมาตรการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนการผลิตน้ำประปาให้กับการประปาทุกสาขาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
ที่ผ่านมากรมชลประทานสูบน้ำกลับมาเติมยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากในช่วงวันที่ 9 ตุลาคม – 21 พฤศจิกายน 2562 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ประมาณ 1.50 ล้าน ลบ.ม. และสูบน้ำจากลำปลายมาศมาเติมยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากในช่วงวันที่ 8 ตุลาคม – 9 ธันวาคม 2562 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ประมาณ 5.40 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังมีแผนผันน้ำจากเหมืองหินเก่าของบริษัทเอกชนอีกประมาณ 1.50 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะสามารถผันน้ำได้ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด โดยจะใช้เครื่องสูบน้ำ 10 เครื่องลำเลียงน้ำเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร คาดว่า จะได้น้ำ 1 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับการผลิตประปาได้ประมาณหนึ่งเดือน อีกมาตรการหนึ่ง คือ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำจังหันและอ่างเก็บน้ำลำปะเทียตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 คาดว่าน้ำจะเดินทางถึงสถานีสูบน้ำลำปลายมาศและสามารถสูบไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากได้ประมาณวันที่ 20 มีนาคมนี้ ซึ่งจะสามารถรองรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่เมืองบุรีรัมย์ได้จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม หลังจากนั้นจะใช้น้ำจากระบบท่อที่ส่งมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย ซึ่งการประปาภูมิภาคเขต 8 จะก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
“น้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ลดลง จึงเตรียมแผนรองรับไว้พร้อมแล้ว โดยจะดำเนินหลายมาตรการพร้อมกัน มั่นใจว่าน้ำอุปโภค-บริโภค จ.บุรีรัมย์จะมีเพียงพอจนถึงต้นฤดูฝนแน่นอน” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย