กรุงเเทพฯ 10 ม.ค.- ผู้ว่าการ กทพ. ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งเบี้ยวนัดหมายไม่ได้เข้าร่วมประชุม กับพนักงานและสหภาพฯ ขณะที่พนักงานระบุจับตามร่างสัญญาการลงนามระหว่างกทพ.- BEM และเตรียมบุกกระทรวงคมนาคมสอบถาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วันนี้ มีผู้บริหารสหภาพฯ และพนักงานร่วมกันแต่งชุดดำหลายร้อยคนมาประชุม รอพบนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. ที่เพิ่งยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง หลังที่ประชุมบอร์ด กทพ. อนุมัติ ผลการเจรจายุติข้อพิพาทค่าโง่ทางด่วนกับเอกชน ด้วยการขยายอายุสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่สหภาพแรงงานฯ และพนักงาน อย่างไรก็ตามหลังจากพนักงานรอเวลาในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้มีการแจ้งจากฝ่ายบริหารว่านายสุชาติจะไม่ได้เดินทางมาร่วมการประชุมดังกล่าว
นางยุวธิษา ธัญญเจริญ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) เปิดเผยว่าทางสหภาพฯกทพ. ยืนยันที่จะเกาะติดการยกร่างสัญญาที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างก่อนมีการลงนามระหว่าง กทพ.และบริษัท ทางด่วนและ รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เพื่อยุติข้อพิพาท และขยายอายุสัมปทานตามมติบอร์ด โดยเมื่อกระทรวงคมนาคมได้รับร่างสัญญาแล้ว สร.กทพ. รวมตัวกันเพื่อเข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดว่าประมาณวันที่ 20-25 มกราคมนี้ เพื่อแสดงถึงจุดยืน ของสหภาพฯ พี่คัดค้านการยุติข้อพิพาทด้วยการขยายอายุสัญญาสัมปทานซึ่งจะทำให้ กทพ. และภาครัฐ รวมถึงประชาชนเสียประโยชน์ในอนาคต
ทั้งนี้ การไปกระทรวงคมนาคม ขอความร่วมมือจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) รวมทั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการช่วยตรวจสอบร่างสัญญาด้วย โดยจะเป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่าการขยายสัมปทานทางด่วนให้กับบริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BEM) จากกรณีข้อพิพาททางด่วนที่ได้มีการแก้ไขสัญญาโครงการรระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนที่ 2 (ส่วนD) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด โดยต่อขยายระยะเวลาสัมปทานทั้ง 3 สัญญา ออกไปสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค.2578 รวมระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ควรพิจารณาในเรื่องดังกล่าวให้รอบคอบอีกครั้ง
ในส่วนของผลกระทบที่ อาจก่อความเสียหาย จากการขยายอายุสัมปทาน มองว่าในส่วนที่มีคดีการฟ้องร้อง เป็นค่าโง่นั้นมีคดีการปรับอัตราค่าผ่านทางรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นคดีที่ กทพ.ปรับค่าผ่านทางเพื่อดูแลประชาชน ไม่ใช่ในส่วนที่ กทพ.ทำผิด แต่เป็นการตีความตามข้อสัญญา และมีรัฐมนตรีร่วมลงนามในอดีต แต่หากร่างสัญญาใหม่ มีเนื้อหาระบุเอกชนจะรับภาษีมูลค่าเพิ่ม แค่ 7% เกินจากนั้นจะไม่รับผิดชอบ ขณะที่ปัจจุบันภาษีจริงอยู่ที่ 10% อาจมีการผลักภาระให้ประชาชนผู้ใช้ทางเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้ใช้ก็จะได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ยังมีประเด็น การส่งมอบรายได้ให้กับรัฐ ในฐานะที่ กทพ.เป็นรัฐวิสาหกิจ เช่นปีที่ผ่านมา กทพ.ส่งรายได้ให้รัฐประมาณ 5,000 – 6,000 ล้านบาท หากในอนาคตไม่มีการขยายอายุสัญญาเพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาท กทพ.นำทางด่วนกลับมาดำเนินการเอง กทพ.ก็จะมีรายได้เพิ่มอีก 40% แน่นอนก็จะทำให้ กทพ.สามารถนำส่งรายได้ให้แก่คลังเพิ่มเติมได้ ปีละ 2 – 3 พันล้านบาท ซึ่งในประเด็นนี้เห็นชัดเจนว่าการขยายอายุสัมปทานออกไปก็เป็นทางเลือกที่ดีในระยะยาว ภาครัฐเองจะเป็นผู้เสียประโยชน์ . – สำนักข่าวไทย