ภูมิภาค 6 ม.ค.-น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ลดต่ำลงต่อเนื่อง กระทบการเลี้ยงปลากระชัง ส่วน จ.ลพบุรี เกษตรกรปลูกชะอมโอดครวญ ปีนี้ภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ต้นชะอมไม่แตกยอด บางแปลงกำลังยืนต้นตาย วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง
นี่เป็นสภาพอ่างเก็บน้ำหนองคลองล้น หมู่ที่ 8 ต.โพสะ อ.เมือง จ.อ่างทอง ซึ่งมีพื้นที่กว่า 100 ไร่ น้ำแห้งจนดินแตกระแหง ระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งแห้งไปทั้งหมดหลังช่วงงานลอยกระทง ส่งผลกระทบทั้งการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ตอนนี้พืชสวนและนาข้าวได้รับผลกระทบอย่างหนัก ชาวบ้านวัย 68 ปี บอกว่าตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นน้ำแห้งมากขนาดนี้ ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ชาวนาหลายรายที่ทำนาไปแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
ส่วนที่ชัยนาท ตอนนี้เกษตรกรต้องดันกระชังปลาไปเลี้ยงกลางแม่น้ำ ป้องกันปลาขาดออกซิเจน หลังน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำลงต่อเนื่อง เกษตรกรรายหนึ่งบอกว่าเลี้ยงปลา 12 กระชัง มากกว่า 240,000 ตัว โดยหลังจากที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ทำให้ต้องดันกระชังออกไปอยู่กลางแม่น้ำ เพื่อไม่ให้กระชังเกยตื้น ตอนนี้ดันกระชังออกไปไกลจากตลิ่งกว่า 60 เมตรแล้ว ส่วนปลาในกระชังก็เริ่มมีอาการขาดออกซิเจน ไม่กินอาหาร โตช้า ลอยตายขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่มาก จึงต้องใช้เครื่องออกซิเจนช่วยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเติมออกซิเจนในน้ำและลดความเครียดของปลา นอกจากนี้ยังต้องจำใจจับปลาบางส่วนขายออกไปก่อน เพื่อไม่ให้แออัดมากจนเกินไป ถึงแม้จะขายได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็จำยอมขาย เพื่อให้ปลาที่เหลืออยู่รอดปลอดภัย จากภาวะภัยแล้งไปได้ตลอดฤดูกาล
นอกจากสัตว์น้ำแล้ว พืชผลทางการเกษตรเสียหายไม่แพ้กัน เกษตรกรปลูกชะอมที่จังหวัดลพบุรี โอดครวญ ปีนี้ภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ต้นชะอมไม่แตกยอด และบางแปลงกำลังยืนต้นตาย โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 ตำบลของเมืองลพบุรี รวมๆ แล้วหลายร้อยไร่ เพราะใช้น้ำจากคลองส่งน้ำที่รับน้ำมาจากคลองชลประทานสายชัยนาท-ป่าสัก แต่เนื่องจากน้ำในคลองส่งน้ำแห้งติดก้นคลอง ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำมาใช้ได้ เกษตรกรบางรายที่มีบ่อน้ำบาดาลก็จำเป็นต้องสูบน้ำขึ้นมาใช้ เพื่อชะลอความเสียหาย แม้ว่าชะอมจะไม่ชอบน้ำจากบ่อบาดาลก็ตาม แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ตายไปทั้งหมด
ที่ห้วยกุดกอก ตำบลยางน้อย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ที่มีความจุกว่า 145,000 ลบ.ม. รวมไปถึงลำห้วยสาขายาวกว่า 700 เมตร ตอนนี้ไม่มีน้ำเหลือเลย บางช่วงเห็นเป็นดินแตกระแหง สะท้อนสภาพความแห้งแล้งอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกุดกอกแห่งนี้ถือเป็นลำห้วยน้ำขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านหลายหมู่บ้านจำเป็นต้องใช้น้ำในการเกษตร บ่อเพาะพันธุ์ปลา และใช้น้ำเลี้ยงสัตว์ จากสภาพความแห้งแล้งในปัจจุบัน ส่งผลให้ขณะนี้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก
ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่เมื่อปี 2538 เป็นเวลา 24 ปี ก็เพิ่งเจอภัยแล้งปีนี้ถือว่าหนักสุดในรอบหลายสิบปีของหมู่บ้าน เนื่องจากกุดกอกไม่เคยแห้งขอดอย่างนี้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้เพิ่งผ่านพ้นฤดูฝน น้ำในกุดกอกก็แห้งขอดไปเกือบหมดแล้ว ทั้งนี้ พื้นที่ที่ประสบภัยแล้งต่างวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง.-สำนักข่าวไทย