กรุงเทพฯ 2 ม.ค.- ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดียักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลา อสมท 138 ล้าน ในวันที่ 21 มกราคม 2563 โดยก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามชั้นต้นจำคุก 13 ปี 4 เดือน
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ตัดสินเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 6 กระทง รวม 20 ปี นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงาน บมจ.อสมท มีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 กรณีทำให้ อสมท เสียหาย จากการละเว้นไม่แจ้งการชำระค่าโฆษณาส่วนเกินจำนวน 138 ล้านบาท ของรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ระหว่างปี 2548-2549 ที่ บจก.ไร่ส้ม และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง จัดดำเนินรายการ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 รวม 6 กระทง เป็นเงิน 80,000 บาท กับลงโทษนายสรยุทธ อายุ 53 ปีเศษ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช อายุ 46 ปีเศษ พนักงาน บ.ไร่ส้มฯ จำคุก 6 กระทง รวมจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำผิด ซึ่งโทษจำคุกจำเลยทั้งหมดนั้นศาลไม่รอลงอาญา
วันนี้ มีการกำหนดนัดฟังคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 21 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อจำเลยทั้งหมดได้รับหมายศาลแจ้งวันนัดแล้ว ก็ต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด นอกจากมีเหตุจำเป็นปัจจุบันทันด่วน หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินกะทันหัน ต้องมอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปก่อน
โดยนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 4 ได้ประกันตัวระหว่างฎีกาสู้คดี ใช้สมุดบัญชีเงินฝากเป็นหลักทรัพย์ที่ศาลฎีกาตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลและให้จำเลยต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน เช่นเดียวกับนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ก็ได้ประกันตัวไป 5 ล้านบาทเช่นกัน
สำหรับคดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยทั้งสี่ คือ
1. นางพิชชาภา หรือนางชนาภา บุญโต อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท จำเลยที่ 1
2. บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2
3. นายสรยุทธ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และอดีตพิธีกรรายการเล่าข่าว จำเลยที่ 3
4. น.ส.มณฑา พนักงาน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 4
เป็นคดีหมายเลขดำ อ.313/2558 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.6, 8, 11
บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2548-28 เม.ย.2549 ต่อเนื่องกัน นางพิชชาภา พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 ได้จัดทำคิวโฆษณารวม ในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ซึ่งก่อนออกอากาศ นางพิชชาภา ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 1 จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภา ไม่รายงานการโฆษณา ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยหน้าที่และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บมจ.อสมท โดยมีจำเลยที่ 2-4 เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการกระทำผิด และมอบเช็คธนาคารแห่งหนึ่ง สาขาพระราม 4 สั่งจ่ายเงินให้นางพิชชาภา เหตุเกิดที่แขวง-เขตห้วยขวาง กทม.
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ซึ่งชั้นตรวจหลักฐาน นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 แถลงแนวทางต่อสู้ว่า ตัวเองไม่มีอำนาจอนุมัติการโฆษณา และไม่เคยใช้น้ำยาลบคำผิดลบข้อความเกี่ยวกับการจัดคิวเวลาโฆษณา ส่วนเช็ค 6 ฉบับ ที่ได้รับนั้น เป็นค่าประสานงานคิวโฆษณาที่นอกเหนือจากหน้าที่ ไม่ใช่ค่าตอบแทนในการไม่ระบุการโฆษณาเกินเวลา
ขณะที่ บมจ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้ว่า ไม่เคยมอบให้ผู้ใดไปติดต่อเพื่อจัดคิวโฆษณาเกินเวลา และไม่เคยให้จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารเกี่ยวกับการโฆษณา เช่นเดียวกับนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 ที่แถลงว่า ไม่เคยรู้จักกับนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่ามีหน้าที่อะไร และไม่เคยติดต่อให้ผู้ใดไม่รายงานโฆษณาที่เกินเวลา แต่ยอมรับว่าเช็ค 6 ฉบับ ได้ลงลายมือชื่อนายสรยุทธ ซึ่งเป็นเช็คที่ชำระค่าประสานงาน ไม่ใช่เงินที่ตอบแทนให้นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารการโฆษณา
ต่อมาศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นว่า การจัดรายการทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุชัดว่าถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลัง และชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่ บมจ.อสมท และสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่า บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินและไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขณะที่นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา แต่ไม่รายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นเหตุให้ อสมท ได้รับความเสียหาย ตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบทั้งสองชุดที่ อสมท ตั้งขึ้น นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลา
ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้น น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การให้เช็คแม้จะอ้างให้โดยเสน่หา แต่การไม่รายงานโฆษณาส่วนเกินให้ทราบ ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ ถือเป็นกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย จึงให้จำคุกนางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สินฯ รวม 6 กระทง กระทงละ 5 ปี เป็นจำคุก 30 ปี
พิพากษาสั่งปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 รวม 6 กระทง กระทงละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 4 พนักงาน บจก.ไร่ส้ม ก็จำคุก 6 กระทง กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี
แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ศาลจึงลดโทษให้จำเลยทั้ง 4 คน คนละ 1 ใน 3 โดยปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จำนวน 80,000 บาท ส่วนนางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 จำคุกเป็นเวลา 20 ปี สำหรับ นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 ก็จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ขณะที่การกระทำของจำเลยที่ 1, 3, 4 ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา) ต่อมาชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผลลงโทษตามศาลชั้นต้น
จากนั้น บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ, น.ส.มณฑา จำเลยที่ 2-4 ได้ยื่นฎีกา โดยมีผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเซ็นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ) มาตรา 221 บัญญัติว่า ในคดีซึ่งห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 คือ คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกนั้นไม่เกิน 5 ปี กับมาตรา 219 ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดดังกล่าว
หากจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องมีผู้พิพากษาในสำนวน หรือที่ทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดเซ็นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย โดยคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องเป็นไปข้อกฎหมายดังกล่าว
สำหรับค่าโฆษณาส่วนเกินจำนวน 138,790,000 บาทนั้น บจก.ไร่ส้ม ได้ชำระคืนให้ แก่ อสมท แล้ว.-สำนักข่าวไทย