กรุงเทพฯ 27 ธ.ค. – เผยผลสำรวจประชาชนฐานรากปรับลดค่าใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 2563 โดยให้ความสำคัญกับคนในครอบครัว
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 2,186 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 49,900 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 6.7 ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,550 บาท ลดลงจากปีก่อนเช่นกัน ทั้งนี้ ประชาชนฐานรากส่วนใหญ่มองว่ารายได้และค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับเท่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่มาจากรายได้ (ร้อยละ 85.5) เงินออม (ร้อยละ 10.3) เงินช่วยเหลือของรัฐ (ร้อยละ 3.4) ส่วนเงินกู้ยืม ซึ่งมีทั้งเงินกู้ในระบบและนอกระบบ (ร้อยละ 0.8) โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่าประชาชนฐานรากที่ใช้เงินในช่วงเทศกาลปีใหม่จากรายได้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
เมื่อสำรวจลักษณะการทำกิจกรรม และการจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยม คือ (1) ให้เงินคนในครอบครัวร้อยละ 55.4 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,985 บาท (2) สังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ร้อยละ 49.7 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,150 บาท (3) ทำบุญ/ไหว้พระ/สวดมนต์ ร้อยละ 44.7 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 400 บาท ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนแต่ละกิจกรรมกับปีก่อน พบว่า ประชาชนฐานรากให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว โดยการให้เงินกับคนในครอบครัว และกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ส่วนของขวัญ/ของฝากที่ประชาชนฐานราก คาดว่าจะซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า 3 อันดับแรก คือ อาหาร/ผัก/ผลไม้/ขนม (ร้อยละ 66.1) เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 51.8) และเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ (ร้อยละ 29.2) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ยังคงนิยมเลือกซื้อของขวัญ/ของฝากที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
สำหรับสถานที่ซื้อ และบุคคลที่ต้องการให้ของขวัญของฝาก พบว่า สถานที่ซื้อ 3 อันดับแรก คือ ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 31.2) ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (ร้อยละ 31.1) และตลาด/ร้านค้าทั่วไป (ร้อยละ 26.8) ส่วนบุคคลที่ต้องการให้ของขวัญ คือ คนในครอบครัว (ร้อยละ 84.8) ผู้ใหญ่ที่เคารพ (ร้อยละ 37.3) และตนเอง (ร้อยละ 33.4)
เมื่อสอบถามถึงเป้าหมายที่จะทำในปีใหม่นี้ พบว่า ประชาชนฐานรากตั้งเป้าหมายที่จะออมเงิน (ร้อยละ 65.5) ลดรายจ่าย (ร้อยละ 49.1) และดูแลสุขภาพ (ร้อยละ 27.0) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าประชาชนฐานราก ให้ความสำคัญด้านการเงิน เป็นส่วนมาก ทั้งเรื่องการออมเงิน ลดรายจ่าย หารายได้เพิ่ม และใช้หนี้
สิ่งที่ประชาชนฐานรากต้องการจากรัฐบาลเป็นของขวัญปีใหม่ 2563 พบว่า 3 อันดับแรก คือ ลดค่าครองชีพ (ร้อยละ 55.1) ลดราคาค่าเชื้อเพลิง (ร้อยละ 54.2) และการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (ร้อยละ 24.7) ซึ่งใกล้เคียงกับความต้องการของปีที่ผ่านมา
เมื่อสอบถามถึงการรับรู้ของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” พบว่า ประชาชนฐานรากส่วนใหญ่รับรู้ถึงมาตรการฯ ร้อยละ 93.5 และได้รับสิทธิ ร้อยละ 37.9 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนฐานรากส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสาร และนิยมใช้สิทธิ ที่มีการให้เงินสดที่อยู่ในเฟสที่ 1 และ 2” นายชาติชาย กล่าว . – สำนักข่าวไทย