รัฐสภา 26 ธ.ค.- เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคม ยื่นริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอ ร่างพ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชนเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการพืชยาร่วมกับภาครัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคม นำโดยนางนิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ยื่นร่างพ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรรับเรื่องไว้
นางนิยดา กล่าวว่า เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคม มาเพื่อยื่นริเริ่มการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการพืชยาร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อม ให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชยา และผลกระทบที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ
นางนิยดา กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้จะเปลี่ยนสถานะกัญชา กระท่อมจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เป็นพืชยาเพื่อให้ผู้ป่วย ประชาชน เข้าถึงการใช้พืชยา กัญชา กระท่อม ทางการแพทย์อย่างปลอดภัย และมีระบบควบคุมกันเองโดยชุมชน สอดคล้องกับวิถีการแพทย์พื้นบ้าน และวัฒนธรรมชุมชน โดยไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นหลังจากนี้จะได้เตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เสนอต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้ต่อไป
ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ว่าพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 อนุญาตให้มีการนำกัญชาและพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เนื่องจากกฎหมายยาเสพติดมุ่งปราบปรามยาเสพติด มิได้มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการนำกัญชา กระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือศึกษาวิจัย แพทย์แผนปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่กล้าสั่งใช้กัญชาให้ผู้ป่วยเพราะยังขาดองค์ความรู้ และประสบการณ์ ทำให้ผู้ป่วยก็เข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา ทำให้ยังต้องใช้กัญชาใต้ดินที่อาจไม่ปลอดภัยมีราคาแพง สำหรับแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้านก็ไม่สามารถนำกัญชา กัญชง กระท่อมมาใช้ในฐานะเป็นพืชยาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การปลูกกัญชาเองมีขั้นตอนยุ่งยากใช้เงินทุนสูง อีกทั้งยังมีโทษอาญาที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดผลกระทบทางสังคม ปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่บางส่วน ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาล
นายไพศาล กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ กำหนดให้ชุมชนที่มีความพร้อมสามารถจัดทำธรรมนูญชุมชน เพื่อจัดการกัญชา กระท่อมด้วยตนเอง กำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้ มีมาตรการลงโทษทางปกครอง มาตรการทางสังคมที่ไม่ใช่โทษอาญา.-สำนักข่าวไทย