ทำเนียบฯ 17 ธ.ค.- รัฐบาล เปิด 10 เป้าหมายการดำเนินงานด้านแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 63 ตั้งเป้าจัดหางาน 1.2 แสนคน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (17 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมรับทราบแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการข้อมูลแรงงานในพื้นที่ ส่งเสริมการมีงานทำและคุ้มครองแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการตรวจลงตราและอนุญาตทำงานแก่ผู้บริหาร ช่างฝีมือ ผู้ชำนาญ สำหรับการดำเนินงานของปีงบประมาณ 2562 ศูนย์ฯ ได้ทำการจัดหางาน 29,262 คน พัฒนาฝีมือแรงงาน แบ่งเป็น อบรมและทดสอบฝีมือ 92,444 คน และยกระดับทักษะแรงงาน 668,000 คน และตรวจตราสถานประกอบการตามมาตรฐานกฎหมาย 891 แห่ง
สำหรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย 1) จัดหางานให้กลุ่มอุตสาหกรรมปัจจุบัน เป้าหมาย 28,000คน และกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเปิดรับในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และดิจิทัล เป้าหมาย 92,618 คน 2) แนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา เป้ามหาย 130,800 คน 3) ตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงาน เป้าหมาย 10,500 คน 4) ฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย 10,000 คน 5) ส่งเสริมสถานประกอบการยกระดับทักษะแรงงาน เป้าหมาย 600,000คน
6) ตรวจแรงงานในระบบ จำนวน 1,400 แห่ง เป้าหมาย 43,000 คน 7) ตรวจและกำกับสถานประกอบการตามมาตรฐานกฎหมายความปลอดภัย เป้าหมาย 900 แห่ง 64,800 คน 8) แนะนำด้านสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน เป้าหมาย 2,513,000 คน 9) ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม เป้าหมาย 58,850 คน 10) ส่งเสริม E-service และ E-payment เป้าหมาย 35,300 คน
น.ส.รัชดา กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน3 ชลบุรี เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้เป็นแรงงานฝีมือชั้นสูงรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ EEC และพื้นที่ภาคตะวันออก สำหรับปีงบประมาณ 2563 เน้นการสร้างหลักสูตรและครูต้นแบบ มีเป้าหมายการฝึกอบรม จำนวน 1,100 คน ใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติ สาขาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สาขาการเรียนโปรแกรมด้านการผลิต สาขาเทคโนโลยีการผลิต และสาขาการบริหารการผลิต .- สำนักข่าวไทย