ทำเนียบรัฐบาล 13 ธ.ค. – 4 สมาคมเหล็กเข้าพบรองนายกฯ
วิษณุ ขอให้รัฐบาลกำหนดให้โครงการรัฐใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทย
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการสมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน นำคณะผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวด
เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ
ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยใช้เหล็กนับตั้งแต่วัตถุดิบขั้นต้น
วัตถุขั้นกลาง สินค้าสำเร็จรูป หากมีผู้ผลิตในประเทศ และต้องรวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
และโครงการที่รัฐให้สัมปทานด้วยที่จะต้องกำหนดสัดส่วนการใช้เหล็กในประเทศ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา
อินเดีย เกาหลี และอินโดนีเซีย ได้มีการดำเนินนโยบายดังกล่าวแล้ว การยื่นหนังสือครั้งนี้ มีนายวิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรีรับหนังสือแทน
รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ กล่าวว่า หลังจากนี้ไปจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เช่น กระทรวงคมนาคม กรมบัญชีกลาง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมาก
รวมถึงสภาวิศวกร รวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง หารือถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศสำหรับงานโครงการภาครัฐ
และการกำหนดการใช้สินค้าในประเทศจะต้องดูว่า
จะเข้าข่ายการกีดกันทางการค้าสินค้าจากต่างประเทศหรือไม่ด้วย
นายประวิทย์ กล่าวว่า วันนี้ 4 สมาคมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กไทย
ประกอบด้วย สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย สมาคมการค้าเหล็กลวดไทย สมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน และ สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า
ซึ่งมีผู้ประกอบการรวมกัน 50-60 บริษัท
มีการจ้างงานและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกว่า 20,000 คน สถานการณ์ของอุตสาหกรรมวิกฤตอีกทั้งถูกผลกระทบจากสงครามการค้าจีนสหรัฐ
เหล็กจีนที่ส่งไปขายสหรัฐไม่ได้ถูกทุ่มตลาดในตลาดเอเชีย ไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย
ส่งผลให้ปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30-40 ของกำลังการผลิตจริงที่ทั้งอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตรวมปีละ 13 ล้านตัน ผลิตจริงประมาณกว่า 3 ล้านตันเท่านั้น จากการบริโภคในประเทศประมาณ
4-5 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการบริโภคเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนประมาณ
1 ล้านตันเศษ ซึ่งทางกลุ่มผู้ประกอบการเหล็กหวั่นว่า
การเข้ามาทำโครงการภาครัฐของจีน จะทำให้มีการนำเข้าเหล็กจากจีนมาใช้ในโครงการด้วย
ไม่ซื้อเหล็กไทยใช้ในโครงการ จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ
“อุตสาหกรรมเหล็กยังต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในหลายด้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาทุ่มตลาดจากต่างประเทศ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากผลพวงของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่งผลให้มีสินค้าเหล็กราคาต่ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย เวียดนาม
และประเทศอื่นๆ ไหลทะลักเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยมากขึ้น
ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นผู้นำเข้าสินค้าเหล็กสุทธิรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก
รองจากสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2561
มีปริมาณการบริโภคสินค้าเหล็กในประเทศ 19.3 ล้านตัน
เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 12 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเพียง 7.3
ล้านตัน ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น” นายประวิทย์ กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า
หากนโยบายดังกล่าวได้มีการบังคับใช้จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลิตและบริโภคเหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น
ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินและปัจจัยการผลิตต่างๆ
ในระบบเศรษฐกิจหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับการนำเข้า
เกิดการสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต เช่น
ธุรกิจขนส่ง งานบริการต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง
ถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอีกทางหนึ่ง
สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งเป็นการลดการขาดดุลทางการค้าจากนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ
“ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวด
ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะชะงักงันของธุรกิจก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์
ทำให้ผู้ผลิตในประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาอุปสงค์ที่เกิดจากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเป็นหลัก
ดังนั้นหากรัฐบาลกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศออกมา
ก็จะช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศเพิ่มการใช้กำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่ได้มากขึ้น”
นายประวิทย์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ กลุ่มสมาคมผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต
ได้มีโอกาสเรียนชี้แจงรายละเอียดนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศ
แก่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์
รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม
และรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในเบื้องต้นแล้ว สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
ด้วยเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญของประเทศหลายอุตสาหกรรม เช่น
อุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ นายกสมาคการค้าเหล็กลวดไทย กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กไทยต้องการให้มีการใช้เหล็กในประเทศ
จนสามารถเพิ่มการใช้กำลังการผลิตไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 75
ของกำลังการผลิตจริงที่มีอยู่ประมาณ 13 ล้านตันต่อปี
ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจอยู่รอดได้ ทั้งนี้ ในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างมาก เช่น
กรณีสหรัฐอเมริกา
กำหนดเป้าหมายการใช้อัตรากำลังการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ
80
กรณีประเทศอินเดีย
ได้มีการจัดตั้งกระทรวงเหล็ก (Ministry of Steel) เพื่อดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
กรณีประเทศสาธารณรัฐเกาหลีที่มุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างจริงจังและมีคำขวัญว่า
“เหล็กคืออำนาจแห่งชาติ (Steel is national power)” และประเทศอินโดนีเซียได้ประกาศให้อุตสาหกรรมเหล็กเป็นแม่ของอุตสาหกรรมอื่น
ๆ (Mother of Industries) .-สำนักข่าวไทย