รร.เดอะสุโกศล 11 ธ.ค.-ทุกฝ่ายห่วงอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ผลสำรวจพบ 1ใน 3อยากทดลอง รพ.รามาฯ เตรียมจัดตั้งระบบเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าแห่งแรกของไทย เพื่อเก็บข้อมูลและให้คำแนะนำปรึกษาครบวงจร หลังพบผู้ป่วยรายแรก
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงข่าว “วิกฤตสุขภาพเยาวชนไทยจากภัยบุหรี่” โดย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวถึงสถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้า ว่าจัดเป็นวิกฤติโลกทางด้านสาธารณสุข เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบอย่างรุนแรง เห็นได้จากข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมจนถึง 7 ธันวาคม 2562 เป็นช่วงเวลาเพียง 3เดือนเศษ มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว 48 ราย ป่วย 2,291ราย ทำให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาต้องประกาศเตือนให้หยุดสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด ซึ่งล่าสุดประเทศไทยพบผู้ป่วยรายแรกจากบุหรี่ไฟฟ้าเกิดปอดอักเสบเฉียบพลันและระบบหายใจล้มเหลว และคาดว่ายังไม่มีมาตรการป้องกันหรือบังคับใช้หฎหมายที่เข้มงวดก็จะทำไห้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เป็นเป้าหมายหลักของ บริษัทผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น เห็นว่าประเทศไทยควรมีระบบเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่และแก้ปัญหาความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
ส่วนอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า มีข้อสังเกตทางการ แพทย์ที่น่าตกใจ คือเมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วสามารถป่วยและเสียชีวิตได้ ในช่วงเวลาอันรวดเร็ว เพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากสารในบุหรี่ไฟฟ้าจะทำลายปอดทั้งสองข้างอย่างรุนแรง แม้ผู้ป่วยบางรายจะสามารถช่วยชีวิตไว้ได้แต่ก็ไม่ ปกติเหมือนเดิมและจะมีโรคเรื้อรังตลอดชีวิต ซึ่งต่างจากการสูบบุหรี่แบบธรรมดาที่ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเป็นการป่วยแบบเรื้อรัง ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดสมอง และติดสารนิโคติน
ที่สำคัญยังพบว่าน้ำยานิโคตินของบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีปริมาณสารนิโคตินไม่ตรงกับที่ฉลากกำกับไว้และมีการปนเปื้อน รวมทั้งมีการแต่งสีและกลิ่นต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ ส่วนนี้จะทำให้เกิดภาวะพิษจากนิโคตินเฉียบพลันและรุนแรงอาจมีอาการชักและเสียชีวิตได้ รวมทั้งอาจมีการสะสมและป่วยเรื้อรังในระยะยาว แต่สิ่งที่ทางการแพทย์เป็นห่วงมากที่สุดคือการเจ็บป่วยด้วยภาวะปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ทางการแพทย์ และต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างจากปอดอักเสบจากการติดเชื้อทั่วไปอื่นๆ
“ขณะนี้ทางศูนย์พิษวิทยาของ รพ.รามาธิบดี กำลังรวบรวมองค์ความรู้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและการักษาของแพทย์และยังเตรียมสร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงในการดูแลผู้บาดเจ็บหรือป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยจัดทำระบบรับแจ้งเหตุจากบุหรี่ไฟฟ้า จากศูนย์รับแจ้งเหตุห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อให้มีการดูแลที่มีประสิทธิภาพและมีฐานข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์การบาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าแบบครบวงจรเป็นแห่งแรกของประเทศ โดยผู้สูบบุหรี่สามารถปรึกษาเลิกบุหรี่กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือสายด่วนเลิกสูบบุหรี่ 1600” ศ.นพ.วินัย กล่าว
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า และกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน ในกรุงเทพฯ พบสัญญาณอันตรายหลายประเด็น โดยเฉพาะนักศึกษาเกือบ 100% รู้จักบุหรี่ไฟฟ้าโดย 1ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง อยากลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกือบครึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา โดยเชื่อว่าเป็นอันตรายน้อยกว่า และที่น่าตกใจ คือ 1ใน6 คน ยังเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายเลย ซึ่งผลสำรวจที่ได้ทำให้ เห็นว่ากลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงและกำลังตกอยู่ในอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า.-สำนักข่าวไทย