เมืองทองฯ 10 ธ.ค. – รมว.คลังดันตั้งตลาดทุนสำหรับผู้ประกอบการตัวเล็ก แบบเดียวกับ SET- mai คาดได้ข้อสรุปปีหน้า หวังรายเล็กเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น พร้อมเผยแผนคลังปีหน้าสร้างสวัสดิการประชาชนมากขึ้น
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจฐานรากพลิกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ว่า เศรษฐกิจไทยหากต้องการให้เดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งกับเศรษฐกิจฐานราก แต่รัฐบาลต้องการให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในดังกล่าว เพื่อให้ไทยสามารถก้าวผ่านช่วงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบกับการส่งออกไทยให้ชะลอตัวลงอย่างมาก
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะผลักดันให้เกิดตลาดทุนใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการตัวเล็ก ไมโครเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ให้มีแหล่งเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจมากขึ้น โดยเบื้องต้นได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนในตลาดใหม่ดังกล่าวของผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อระดมเงินทุนผ่านการซื้อขายหลักทรัพย์เช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลท.และตลาดเอ็มเอไอ แต่จะมีเงื่อนไขการลงทุนแตกต่างกัน ทั้งทุนจดทะเบียน ลักษณะการเทรดหุ้น และเงื่อนไขการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าต้นปีหน้าจะได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ และเปิดตัวตลาดดังกล่าวได้ ส่วนจะเปิดเทรดได้เมื่อไรต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมก่อน
“พูดง่าย ๆ ว่าเป็นการเปิดกระดานลงทุนใหม่ แต่ให้กับผู้ประกอบการตัวเล็กมีพื้นที่ในการหาแหล่งเงินลงทุนใหม่เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายใหญ่และรายกลาง ซึ่งลักษณะการเทรดจะคล้ายกัน แต่เงื่อนไขต้องแตกต่าง เพราะผู้ประกอบการรายเล็กยังมีความแข็งแกร่งไม่เท่ารายใหญ่ แต่ก็มีการร่วมทุน Venture cap ได้ด้วย ซึ่งมองว่าตลาดทุนที่จะสร้างมาใหม่นี้เป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเติบโตได้มากขึ้น” นายอุตตม กล่าว
ทั้งนี้ การสร้างตลาดทุนสำหรับผู้ประกอบการตัวเล็กนั้น มีขึ้นมาในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาทิ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการตัวเล็กเข้ามาเทรดจำนวนมาก
นอกจากนี้ แผนงานของกระทรวงการคลังหลังจากนี้จะไม่ดูเพียงแค่วินัยการคลังอีกต่อไป แต่จะให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะการให้สวัสดิการกับประชาชนและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุก มีการพัฒนาประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“กำลังจะเดินหน้าทำให้เข้มข้นมากขึ้น วินัยการเงินการคลังก็ต้องรักษาไว้ แต่จะสนับสนุนให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีมากขึ้นมากกว่านี้ แบงก์รัฐก็จะส่งเสริมด้านเงินทุนให้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าช่วยกัน เพื่อให้เกิดห่วงโซ่ที่สมบูรณ์มากขึ้น” นายอุตตม กล่าว
ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมเงินสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี หรือตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 -30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจรายเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.จะเน้นการพัฒนา 3 ด้าน ด้านเกษตรกรรม เช่น กลุ่มธุรกิจการผลิตบริการและรวบรวม ด้านท่องเที่ยว เช่น กลุ่มที่พักโฮมสเตย์ อาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มนำเที่ยวและขนส่ง และผลิตภัณฑ์ชุมชน และด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปและโลจิสติกส์ โดยตั้งเป้าขยายผลให้ได้ 928 ชุมชนในสิ้นปีนี้ และเป็น 9,000 ชุมชนในปี 2565 ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีเกษตรกรลูกค้า 6.17 ล้านครัวเรือน สมาชิกกลุ่มเกษตรกร 396,165 กลุ่ม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร 442,887 ราย
ขณะที่นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมแหล่งเงินทุนสินเชื่อประชารัฐสร้างไทย ธนาคารประชาชน 5..5..5 วงเงินสินเชื่อ 2,500 ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ และผู้มีรายได้น้อย มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ โดยสามารถใช้บุคคล หรือบริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อเดือน ระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารช่วง 11 เดือน สูงถึง 185,000 ล้านบาท มั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อตามเป้าหมายที่ 203,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อเดือนปล่อยสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท เนื่องจากมีมาตรการของภาครัฐที่เข้ามาช่วยผลักดันตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโต โดยเฉพาะโครงการบ้านดีมีดาวน์ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ในวันพรุ่งนี้วันแรก (11 ธ.ค.) จะได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างดี. – สำนักข่าวไทย