ทำเนียบฯ 6 ธ.ค. – บอร์ดอีอีซีเห็นชอบยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลภาคตะวันออก รองรับการเติบโตของเมืองใหม่ หลังคนหนุ่มสาวออฟฟิศ นักลงทุนต่างชาติ ชุมชนพื้นที่ อาศัยเพิ่มมากขึ้น หนุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนลดขยะล้นเมือง
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. หรือบอร์ดอีอีซี รับทราบความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และความคืบหน้าแผนก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา เมื่อโครงสร้างพื้นฐานหลักเริ่มต้นก่อสร้างแล้วหลายโครงการ รัฐบาลจึงเดินหน้ายกระดับบริการสาธารณสุขในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเห็นชอบแผนบริการสาธารณสุข 3 ด้านหลัก 14 โครงการ ได้แก่ จัดทำข้อมูลชุดเดียวกัน เพื่อให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งกลุ่มชาวบ้านผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพ เพราะเมืองใหม่อีอีซีเติบโตมากขึ้นจะมีนักลงทุนต่างชาติ พนักงานออฟฟิศ คนรุ่นใหม่ แรงงานต่างด้าว กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ จึงต้องมีระบบฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้การรักษาพยาบาลทุกด้านสอดคล้องกัน
นายสุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บอร์ดอีอีซี เห็นชอบตั้งคณะทำงานบริหารแผนสาธารณสุขในเขตอีอีซี เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาล ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ทั้งทางเรือ ทางอากาศ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลทั้งผู้ป่วยติดเตียง การแพทย์ปฐมภูมิ การดูแลคนพิการ รวมทั้งสั่งการให้ภาครัฐและเอกชนร่วมทุนกำหนดแผนลงทุนระหว่างกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันบริการในโรงพยาบาลให้คล่องตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน การบูรณาการโรงพยาบาลทุกแห่งในเขตอีอีซี เทียบชั้นการรักษาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาล ศิริราช หรือโรงพยาบาลรามาธิบดี หลังจากเมืองเติบโตผู้คนจะเข้ามาอยู่อาศัย ระบบการรักษาจึงต้องได้มาตรฐาน
นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ดอีอีซียังสั่งการให้วางแผนการจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี หลังจากคาดการณ์ว่า ปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่อีอีซีจะเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณ 4,200 ตัน/วัน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 6,800 ตัน/วัน ในปี 2580 แต่ปัจจุบันยังขาดการบริหารจัดการ หากยังใช้การฝังกลบแบบเดิม ต้องเจอปัญหาขยะไม่ย่อยสลาย และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงใช้โมเดลโรงกำจัดขยะ จ.ระยอง เพื่อขยายผลครอบคลุม 3 จังหวัดในเขตอีอีซี เพิ่มอีก 6 แห่ง เพราะโรงขยะสามารถผลิตได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และเศษพลาสติก ขยะอื่นอัดก้อนเป็นเชื้อเพลิงรองรับผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ถึง 120 เมกะวัตต์ รองรับการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน และกำจัดขยะสะสมได้กว่า 5.57 ล้านตัน ในพื้นที่อีอีซี ให้หมดไปภายใน 12 ปีข้างหน้า
โดยสำนักงานอีอีซี พร้อมประสานจังหวัดระยอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี ทั้งขยะบก บนเกาะ และในทะเล ให้เสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมดึงให้กลุ่มบริษัท ปตท. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ศึกษาขยายโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 2 เพื่อจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งโรงงานขยะ และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะเพิ่มเติม ส่วนพื้นที่จังหวัดอื่นในอีอีซีจะเปิดให้ภาคเอกชนลงทุน มอบหมายให้ กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ ในพื้นที่อีอีซี
บอร์ดอีอีซี ยังเดินหน้าพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซี โมเดล เพื่อพัฒนาบุคลากรอีอีซีใน 2 ปี ทั้งการให้เอกชนร่วมจ่าย 100% ในการพัฒนาบุคลากรผ่านสถาบันอาชีวศึกษา 12 สถาบัน ภายในปี 2562 ผลิตได้ 1,117 คน และมี MOU ร่วมกับผู้ประกอบการในอีอีซี พัฒนากำลังคนทั้งในระดับอาชีวะและปริญญาตรี 44,000 คน รวมทั้งการให้ภาคเอกชนร่วมออกค่าใช้จ่ายสัดส่วน 10-50% ขณะนี้มีผู้ประกอบการร่วมจัดทำหลักสูตรจัดการเรียนรู้บางส่วน และรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน แต่ไม่ประกันการจ้างงาน ร่วมกับ 36 วิทยาลัย รวม 5,100 คน และจะขยายให้ครอบคลุม 48 วิทยาลัยในภาคตะวันออก และการปรับฐานภาษาอังกฤษของนักเรียนอาชีวศึกษาในอีอีซี (อาชีวะอินเตอร์) พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐในพื้นที่ อีอีซี เพื่อสอนภาษีแทรกในหลายสาขาให้เด็กรุ่นใหม่นำไปใช้งานจริงในภาคปฏิบัติ.-สำนักข่าวไทย