กรมการแพทย์ 3 ธ.ค.-กรมการแพทย์ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนานวัตกรรมเครื่อง PM CLEANER ด้วยระบบ Active Plasma กำจัดฝุ่น PM 2.5 แห่งแรกในประเทศไทย ที่ รพ.นพรัตน์ราชธานี มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่ผู้ป่วยและประชาชน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หมอกควัน PM 2.5 เป็นมลพิษทางอากาศชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จากการประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ผ่านมา พบว่าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงชุมชนเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยจึงได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบกับสุขภาพในระยะยาว ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เข้ามาใช้ควบคู่กับการรักษา ล่าสุดได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนานวัตกรรมเครื่อง PM CLEANER ด้วยระบบ Active Plasma กำจัดฝุ่น PM2.5 โดยจะนำไปติดตั้งภายในอาคารของ รพ.นพรัตนราชธานี ทำให้ผู้ป่วยและประชาชนลดความเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นละอองในอากาศได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลฯในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องอาชีวอนามัย วินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงานและโรคจากสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ จึงได้ต่อยอดการรักษาโรคที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองPM2.5 โดยจัดตั้ง “คลินิกมลพิษ” เน้นการทำงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประเมินสถานการณ์มลภาวะ ประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจากมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มโครงการโรงพยาบาลต้นแบบ ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาล การนำขยะมารีไซเคิลเพื่อลดมลพิษจากการเผาไหม้ขยะ โดยได้ริเริ่มโครงการใช้นวัตกรรมเครื่อง PM cleaner ด้วยระบบActive plasma กำจัดฝุ่นPM2.5 โดยนำเครื่องดังกล่าวติดตั้งที่บริเวณโรงพยาบาลเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีต่อผู้ป่วยและประชาชนที่สัญจรบริเวณโรงพยาบาล รวมทั้งตั้งเป้าจะขยายผลให้เป็นที่ศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจต่อไป
ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า สถาบันฯเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ของประเทศและมีความร่วมมือในด้านต่างๆกับกรมการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพบปัญหาของฝุ่นPM2.5 จึงสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือในการจัดการปัญหาฝุ่นPM2.5 ขึ้นมา โดยมีหลักการทำงาน 3 ขั้นตอน 1)การใส่ประจุไฟฟ้าให้ กับอานุภาค 2)การเก็บอานุภาคที่มีประจุโดยใช้แรงไฟฟ้าสถิตจากสนามไฟฟ้า 3)การแยกอานุภาคออกจากขั้วเก็บไปยังถังเก็บพัก ซึ่งหลักการทำงานดังกล่าวจะช่วยดักจับฝุ่นละอองที่มีอานุภาคน้อยกว่า 0.1ไมครอนได้ เป็นการดักจับฝุ่น pm 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คุณภาพอากาศบริสุทธ์ขึ้นโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต
เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ พร้อมด้วยนพ.อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม อาจารย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องแยกฝุ่นกำจัด PM 2.5 ที่มีทั่วไปมีราคาค่อนข้างสูง สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ จึงร่วมกับ รพ.นพรัตนราชธานีและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาระบบกำจัด PM 2.5 ด้วยระบบ Active Plasma ซึ่งมีระบบการแยกฝุ่น PM2.5 โดยใช้หลักการม่านประจุไฟฟ้าเพื่อดักจับแทน เนื่องจากสารประกอบในPM 2.5 มีลักษณะเป็นประจุบวก ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นละอองในอากาศตั้งแต่ 97-99 เปอร์เซ็นต์ยังสามารถบำรุงรักษาระบบได้ง่ายและไม่ ก่อให้ เกิดขยะจากไส้กรองที่เสื่อมสภาพอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย