กรุงเทพฯ 30 พ.ย.-ปัญหาโรคซึมเศร้ารุมเร้า มูลเหตุของการจบชีวิต กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้รายวัน สัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้า ทำอย่างไรจะช่วยให้คลายทุกข์ใจ และดึงคนเศร้าออกจากปัญหา ติดตามได้จากรายงาน.-สำนักข่าวไทย
ซึมเศร้า เท่ากับฆ่าตัวตาย กลายเป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นในสังคมไทย และเกิดคำถามชวนคบคิดทุกครั้งที่จบชีวิตมาจากซึมเศร้าหรือไม่ จิตแพทย์ชี้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายของคนป่วยซึมเศร้า มีมากกว่าคนปกติถึง 20 เท่า แต่ทุกชีวิตที่จบลง ไม่ได้มาจากภาวะซึมเศร้าเป็นแรงขับ มีหลายปัจจัยที่เชื่อมโยง โดยสัญญาณของโรคซึมเศร้าบ่งบอกจากสิ่งที่เปลี่ยนไป 3 ด้าน ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม ขณะที่สัญญาณการฆ่าตัวตาย สามารถพบเห็นได้จากทั้งพยานบุคคลหรือพยานสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในโลกออนไลน์ ที่ระบายข้อความ ทั้งอยากตาย หรือการจัดเตรียมอุปกรณ์ปลิดชีวิต แสดงพฤติกรรมสิ้นหวัง หรือส่งต่อสิ่งดีๆ หรือมอบของที่ระลึกให้คล้ายสั่งลา
จิตแพทย์ ยังชี้ว่าความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในไทยยังไม่ไต่ระดับ คงที่ร้อยละ 2 อัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากร แต่เมื่อวิเคราะห์อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ พบว่า มีถึงร้อยละ 90 ป่วยทางใจ ต้องการการช่วยเหลือ เพราะการฆ่าตัวตายป้องกันได้ ทำได้ง่าย แค่เปิดใจชวนคุย รับฟังอย่างจริงใจ อย่างน้อย 3 นาที ปราศจากความคิดเห็น ร่วมกับภาษากายที่เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี จากนั้นชักชวนพบจิตแพทย์ ร่วมหาทางออกหรือปรึกษาสายด่วน 1323
รับฟัง อย่างปราศจากอคติ คือทักษะอย่างง่าย ที่จะเข้ามาช่วยกู้วิกฤติจิตใจ เพราะสำหรับผู้ที่ท้อแท้สิ้นหวัง หากมีสักคนที่รับฟังปัญหารุ้มเร้า ช่วยให้ไม่อ้างว้าง ความทุกข์ใจอาจคลายลง.-สำนักข่าวไทย