สนามกอล์ฟบางพระ จ.ชลบุรี 25 พ.ย.- ธพส.เดินหน้าพัฒนาสนามกอล์ฟบางพระ รองรับนักลงทุนอีอีซี ยอมรับภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่กระทบต้นทุน เปิดประมูลวางเสาเข็มศูนย์ราชการฯ โซนซีวันนี้ ขอปรับค่าเช่าจากส่วนราชการจากผลกระทบภาษีที่ดินฯ
นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) กล่าวว่า ธพส.มีแผนพัฒนาสนามกอล์ฟบางพระ จ.ชลบุรี เพิ่มเติม ขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างกำหนดเงื่อนไข เพื่อจัดการลงทุนแบบ PPP ขณะนี้ยังไม่มีเอกชนรายใดสนใจยื่นประมูล คาดว่าเดือนเมษายน 2563 จัดทำแผนร่วมทุนสำเร็จ จากเดิมกำหนดเงื่อนไขต้องสร้างโรงแรมขนาดห้องพักเพิ่มอีก 100 ห้อง รวมเป็น 200 ห้อง สร้างห้องประชุมสัมมนารองรับผู้เข้าร่วมประชุมอีก 200 คน
นายนาฬิกอติภัค กล่าวว่า ที่ผ่านมาที่ปรึกษาของกรมธนารักษ์มองว่าที่ดินแปลงนี้มีศักยภาพสูง เป็นธุรกิจไมซ์จัดการประชุมสัมมนา ซึ่งเป็นธุรกิจคนละแบบกับสนามกอล์ฟจึงขาดผู้สนใจ กรมธนารักษ์จึงต้องปรับปรุง TOR ใหม่ ด้วยการตัดการสร้างห้องพักโรงแรมออก เพื่อใช้พัฒนาเป็นห้องอเนกประสงค์อื่น และรองรับครอบครัวนักกอล์ฟ รวมทั้งการลงทุนเพิ่มศักยภาพสนามกอล์ฟมากกว่า รวมทั้งต้องปรับปรุงห้องพัก และบรรยากาศและสนามกอล์ฟให้ดีขึ้น เพื่อดึงดูดนักกอล์ฟภาคตะวันออก ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น เกาหลี หรือต่างชาติเข้ามาออกรอบในสนาม
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการเปิดประมูลครั้งที่ผ่านมามีเอกชนผู้สนใจซื้อซองประมูลเพียง 1 ราย คือ เกาะล้านเพรสซิเดนท์ เมื่อกรมธนารักษ์กำหนด TOR ใหม่และตัดการสร้างห้องพักโรงแรมออกเหลือเพียงการบริหารสนามกอล์ฟบางพระอย่างเดียว คาดว่าจะมีผู้สนใจยื่นซองมากขึ้น ยอมรับว่าธุรกิจสนามกอล์ฟขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการต้นทุนและดูแลลูกค้า เช่น นักลงทุนชาวญี่ปุ่น นิยมซื้อสมาชิกที่สนามบางพระ ราคาเฉลี่ย 30,000-40,000 บาทต่อปี แต่ปริมาณการมาใช้สิทธิ์ออกรอบเล่นกอล์ฟยังน้อยมาก เมื่อสนามบางพระ ต้องการใช้คอนเซปคงความเป็นสนามกอล์ฟมีตำนาน สำหรับลูกค้าญี่ปุ่น พร้อมการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และอยู่ใกล้อำเภอศรีราชา เป็นที่ตั้งนิคมอุตสหากรรมของชาวญี่ปุ่น และใกล้เมืองพัทยา คาดว่าการพัฒนาศักยภาพของสนามกอลฟ์บางพระจัดให้เป็นสนามระดับ 4 ดาว ส่วนโรงแรมที่พักระดับ 3.5 ดาว
ส่วนความคืบหน้าแผนก่อสร้างโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการแจ้งวัฒนาะ (โซนซี) เนื้อที่ 81 ไร่เศษ มูลค่าการลงทุน 22,000 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เข้าปรับพื้นที่ล้อมรั้วอยู่ระหว่างการจัดจ้างผู้รับจ้างก่อสร้างงานเสาเข็มเป็นไปตามแผน เดิมกำหนดตอกเสาเข็มเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้ปรับแผนการตอกเสาเข็มรองรับการสร้างที่จอดรถเพิ่มจาก 4,000 คัน เพิ่มเป็น 4,300 คัน และรองรับการเช่าของส่วนราชการ 12 หน่วยงาน รวมทั้งยังต้องพัฒนาที่จอดรถรองรับ โซน A, B เพิ่มอีก 8,000 คัน จึงต้องเริ่มตอกเสาเข็มเดือนมกราคม 2563 ธพส.จึงเตรียมเปิดประมูลการตอกเสาเข็ม กำหนดราคาลดลงไปอีก 210 ล้านบาท จากราคากลาง 796 ล้านบาท เหลือ 500 กว่าล้านบาท สำหรับการสร้างอาคารโซนซีหลังใหม่ มูลค่า 20,000 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท ใช้สำหรับปรับปรุงอาคาร A,B ส่วนเหลือเป็นภาระดอกเบี้ย ค่าจ้างที่ปรึกษา เงินสำรอง รวมเป็น 30,000 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี คาดว่าอาคารโซนซีการก่อสร้างเสร็จเดือนมิถุนายน 2566 เตรียมเปิดให้ส่วนราชการย้ายเข้าทำงานเดือนกันยายน 2566 ส่วนแหล่งที่มาของเงินทุนในการก่อสร้าง สำนักบริหารหนี้สาธารณะเป็นผู้ศึกษาแนวทางจัดหาแหล่งทุนเพื่อกู้เงินในระยะเวลา 4 ปี
“เริ่มตอกเสาเข็ม ม.ค.ปีหน้า จากนั้นเริ่มงานพื้นฐาน ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบอาคารโซนซีด้านทิศเหนือคาดว่าเสร็จปลายปีหน้า ส่วนแผนการระบายรถจากศูนย์ราชการฯ พร้อมหารือกับ กทม.ตัดถนนเพิ่มเติมตามแผนแม่บทของศูนย์ราชการ โดยต้องตัดถนนเชื่อม Local Raod บริเวณประชาชื่น วิภาวดีฯ ด้าน ถนนประชาชนชื่น ต้องขยายจากถนนขนาด 2 ช่องจราจร เพิ่มเป็น 4 ช่องจราจร ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนอีก 200 ล้านบาท ใช้ตัดถนนประชาชื่นตรงจุดแยกของการประปานครหลวง ส่วนด้านถนนวิภาวดี มีถนนหมายเลข 8 ตัดออกอยู่ข้างถนนสถาวิจัยจุฬาภรณ์ ข้างคลองเปรม ซึ่งเปิดใช้งานแล้ว ที่เหลือต้องหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อสร้างถนนข้ามทางรถไฟ เมื่อเสร็จจะเชื่อมกับถนนวิภาวดีฯ” นายนาฬิกอติภัค กล่าว
นอกจากนี้ ธพส.ยังมี Business Model หารายได้เพิ่ม โดยใช้โมเดลโครงการพหลโยธิน 11 เป็นต้นแบบ โดย ธพส.เช่าที่สร้างอาคารสำนักงาน 4 ชั้น คิดค่าใช้จ่ายกรมธนารักษ์เป็นคนเช่าต่อ และยังมีพื้นที่บริเวณอาคารสโมสร เนื้อที่เกือบไร่ของกรมสรรพสามิตส่งคืนให้กรมธนารักษ์ จึงให้ ธพส.เช่าที่แปลงดังกล่าว เพื่อก่อสร้างอาคารและปล่อยให้เช่า ซึ่งกรมสรรพสามิตโยกจากงบลงทุนเป็นงบทำการใช้งบทำการจ่ายเป็นงบค่าเช่า ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแนวคิดการนำงบการก่อสร้างที่พักบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศกำหนดให้เป็นประจำทุกปี พร้อมให้เป็นงบลงทุนของ ธพส.สร้างอาคารที่พักอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดนำเป็นข้อเสนอที่ดีมองว่าคุ้มทุนในการลงทุน
นายนาฬิกอติภัค กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อรัฐบาลต้องจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2563 ธพส.ยังเสียเปรียบรัฐวิสาหกิจอื่น เพราะใช้กฎหมายจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดเสียภาษีนิติบุคคลอีก 20% จึงต้องเสนอกระทรวงการคลังขอปรับค่าเช่าจากส่วนราชการ เนื่องจากมีภาระภาษีที่ดินฯ เพิ่มขึ้น 150 ล้านบาทต่อปี จากหน่วยงานผู้เช่า เช่น ศาลปกครองสูงสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานอัยการสูงสุดบางส่วน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ที่เหลือเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก โดยต้องปรับขึ้นค่าเช่าอาคารเอและบี และโซนซีขอปรับเพิ่มเช่นกันหลังจากสร้างเสร็จ จากเดิมไม่เสียภาษีโรงเรือน สำหรับอาคารโซนซีราคาเพิ่ม 15.61 บาทต่อตารางเมตร จะของบผูกพันระยะเวลา 30 ปี ขณะนี้ยังไม่จัดเก็บ เพราะยังไม่เริ่มก่อสร้าง ส่วนโซนเอและบีเพิ่มประมาณ 23 บาทต่อตารางเมตร เริ่มเก็บวันที่ 1 มกราคม 2563 รวมพื้นที่ใช้สอยกว่าล้านตารางเมตร เตรียมเสนอกรมธนารักษ์และกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาในขั้นต่อไป
สำหรับผลดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (โซนเอ โซนบี โซนซี และอาคารศาลปกครอง) สนามกอล์ฟบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ธพส. ยังได้จัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ธพส.ประมาณการรายได้ปี 2562 ประมาณ 2,800 ล้านบาท กำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 290 ล้านบาท
ส่วนแผนบริหารจัดการโครงการปี 2563 ธพส.เตรียมพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติม ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์หลังใหม่ของกรมสรรพสามิต โดยบอร์ด ธพส.มติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการแล้ว ขณะนี้กำลังรอผลการพิจารณาอนุมัติจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าจะทราบผลความคืบหน้าในไตรมาสแรกของปี 2563.-สำนักข่าวไทย