22 พ.ย. – การเอาผิดแก๊งมิจฉาชีพฐานฉ้อโกงประชาชนที่ล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจกฎหมายของพนักงานสอบสวน ผู้ประสานงานเครือข่ายทนายความเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ขอให้ตำรวจใส่ใจกับคดีที่สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่สามารถแก้ปัญหาได้ เพียงแต่เพิ่มความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมาย
รูปภาพแนวพุทธศาสนา ข้อความสร้างแรงบันดาลใจต่างๆ ถูกส่งในไลน์สแควร์ ห้องขายโปรเงินบุญร้อยแลกล้าน ย้ำเตือนให้สมาชิกคิดบวกทุกวัน แต่เมื่อความศรัทธาเกิดขึ้นผิดที่ผิดทาง คนจำนวนมากจึงตกอยู่ภายในการควบคุมของมิจฉาชีพแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์แบบโงหัวไม่ขึ้น
ข่าวตำรวจกองปราบปรามรวบเครือข่ายน้าหลุยส์ตาทิพย์ ที่พฤติกรรมคล้ายแก๊งเงินบุญปลายสัปดาห์ก่อน ส่งผลสะเทือนถึงไลน์สแควร์ห้องคนขายโปร มีการไล่ลบคนที่คาดว่าเป็นกลุ่มต่อต้าน หรือสายข่าวเจ้าหน้าที่ และระมัดระวังในการแจ้งข่าวสารมากขึ้น
หญิงชาวกาญจนบุรีคนนี้พลาดท่ามิจฉาชีพที่มาในคราบแฟน สูญเงินทั้งค่าซื้อโปร เงินยืมไปดันงานกว่า 600,000 บาท เดิมชายชาวบุรีรัมย์คนนี้เป็นสมาชิกซื้อโปรสายมรดก แต่พลาดหวัง ผันตัวเป็นบอสขายโปรเองในนาม VIP บร.มีการแอบอ้างเบื้องสูง และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ เมื่อเธอรู้ว่า สามีเป็นนักต้มตุ๋น จึงรับไม่ได้ ยอมเลิกรา ทั้งที่เพิ่งมีลูกด้วยกัน อดีตสามียังเคยอบรมเป็นประชาชนอาสาไซเบอร์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือด้วย เธอแจ้งความที่ สภ.ท่าเรือ จ.กาญจนบุรี ผ่านมา 3 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้า
ผู้ประสานงานเครือข่ายทนายความเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย เปิดเผยว่า มีการเข้าใจผิดกันมากถึงแนวปฏิบัติในคดีฉ้อโกงประชาชน ตำรวจหลายพื้นที่มักยึดถือว่าต้องมีผู้เสียหายแจ้งความอย่างน้อย 10 คน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพียงคนเดียวก็เอาผิดฐานฉ้อโกงประชาชนได้ กฎหมายดูที่พฤติการณ์ในการกระทำความผิด หรือแม้จะไม่มีผู้เสียหายออกมา เจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษแทนได้ในความผิดอาญาแผ่นดินทุกกรณี
ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือกฎหมายแชร์ลูกโซ่ ที่มักเป็นข้อหาฟ้องคู่กัน เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาจัดการแก๊งต้มตุ๋นหลอกลวงประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 7 ที่ให้อำนาจพิเศษเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล. – สำนักข่าวไทย