กรุงเทพฯ 19 พ.ย. – รมว.อุตสาหกรรมสั่งสำรวจน้ำทิ้งโรงงานกว่า 7,000 แห่ง พร้อมช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง เผยปี 59 นำน้ำทิ้งกว่า 7.7 แสน ลบ.ม. ช่วยชาวไร่อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด กว่า 4 พันไร่
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำรวจปริมาณน้ำทิ้งของโรงงาน 12 ประเภท ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 7,621 โรงงาน ที่สามารถนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะที่ปริมาณน้ำในภาคเกษตรประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยคุณลักษณะของน้ำทิ้งต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรให้สามารถผ่านวิกฤติภัยแล้งไปได้ในกรณีที่เกิดภัยแล้งขั้นรุนแรง
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญทั้งเรื่องการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และการวางแผนรับมือภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งที่ผ่านมาปี 2559 ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเคยออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเฉพาะกิจที่อนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเงื่อนไขห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงานให้สามารถนำน้ำทิ้งจากโรงงานที่เป็นไปตามมาตรฐานส่งต่อให้เกษตรกรเพื่อสู้ภัยแล้งได้
สำหรับปี 2559 กระทรวงอุตสาหกรรมประสานโรงงานอุตสาหกรรมจนสามารถนำน้ำทิ้ง 772,560 ลบ.ม. ช่วยเหลือเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอใช้น้ำทิ้ง 4,419 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ถั่วเขียว เป็นต้น และที่สำคัญโรงงานอุตสาหกรรมยังมีศักยภาพในการนำน้ำทิ้งช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มอีก หากเกษตรกรแจ้งความจำนงในการขอใช้น้ำทิ้ง
นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ กรอ.ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและลดปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงาน เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งกำชับผู้ประกอบการนำนโยบาย 3 อาร์ (3R) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับสูงสุด คือ 1.รีดิวซ์ (Reduce) การลดใช้หรือใช้น้ำน้อยเท่าที่จำเป็น 2.รียูส (Reuse) การใช้น้ำซ้ำ และ 3.การรีไซเคิล (Recycle) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการช่วยกันใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย.-สำนักข่าวไทย