กาญจนบุรี 12 พ.ย. – ครม.สัญจรรับข้อเสนอเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ทยอยพิจารณาแผนลงทุน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังข้อเสนอและแผนการลงทุนที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยผลักดันและรับฟังปัญหาในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดตรงกับความต้องการของประชาชน เมื่อรัฐบาลมีงบประมาณอย่างจำกัดจึงขอให้ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และเรียงลำดับความสำคัญของโครงการเร่งด่วนเป็นอันดับแรก หลังจากภาคเอกชนและหน่วยงานในพื้นที่เสนอแผนลงทุน จึงสั่งการให้ทยอยจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 จังหวัด ทั้งสิ้น 6,264 ล้านบาท
สำหรับการพัฒนาด้านการเกษตร เช่น ระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ต่อพ่วงเครื่องจักรกลเกษตร การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การติดตามเฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพอากาศ ศึกษารูปแบบศูนย์การบริหารขนส่ง ตรวจวัดคุณภาพอ้อย ที่ประชุมเห็นชอบหลักการและให้เร่งดำเนินการตรงตามความต้องการของตลาด และให้ประชาชนพื้นที่มีส่วนร่วม
ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาเมืองเก่ากาญจนบุรี โดยเร่งรัดการขอใช้พื้นที่โรงงานกระดาษ ปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ การออกแบบและก่อสร้างระบบระบายน้ำ การออกแบบและก่อสร้างจุดชมวิวสกายวอร์ค การออกแบบและก่อสร้างหอคอยชมวิวแม่น้ำสามสาย รวมถึงก่อสร้างเส้นทางพุทธธรรม ปรับปรุงภูมิทัศน์พุทธมณฑล เพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานด้วย ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดสรรงบประมาณ และให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อโรงกระดาษ และให้ต่อรองราคาให้ถูกลงกว่าราคาที่กำหนดไว้ นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และร่วมกันปลูกดอกไม้ ต้นไม้ตามกลุ่มสีต้นไม้ เพื่อสร้างสีสันให้กับประเทศ ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายนั้น เสนอการปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี การศึกษาแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ฝั่งตะวันตก (WEC) และสนับสนุนการท่องเที่ยว การศึกษาเพื่อเชื่อมโยงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการค้าขายแดน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไมซ์ และเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้พิจารณาปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี
สำหรับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางบก 10 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 6,264 ล้านบาท เช่น การสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 – ระยะทาง 36.8 กม. (4 ช่องจราจร) วงเงินงบประมาณ 3,042 ล้านบาท การพัฒนาระบบระบายน้ำ หมายเลข 3291 เจดีย์หัก-หนองหอย ระยะทาง 9.242 กิโลเมตร วงเงิน 150 ล้านบาท การขยายทางหลวงหมายเลข 3208 น้ำพุ – เหมืองผาปก ค้างค้าว จ.ราชบุรี – ขยายช่องจราจรจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 31 48 กม. วงเงิน 800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเร่งรัดโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 ระยะทาง 36.8 กม. วงเงินงบประมาณ 3,042 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินค่าก่อสร้าง 2,650 ล้านบาท และงบประมาณเวนคืนที่ดิน 392 ล้านบาท โดยปี 2564 ดำเนินการออกแบบ ปี 2565 เวนคืนที่ดิน ปี 2566 เริ่มก่อสร้าง และปี 2568 เปิดใช้การ สำหรับการสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี หลังโครงการก่อสร้างล่าช้า ทำให้เงินเวนคืนสูงขึ้น 12,000 ล้านบาท เมื่อยังมีเงินเหลือจากดำเนินโครงการ 5,225 ล้านบาท และเงินประกวดราคาเหลือ 5,000 ล้านบาท จึงหาเงินเพิ่มเพียง 1,800 ล้านบาท จึงต้องพิจารณาเวนคืน เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางดังกล่าวให้เร็วขึ้น.- สำนักข่าวไทย