กรุงเทพฯ 8 พ.ย. – กฟผ.ประกาศรายชื่อ 17 โรงสกัดน้ำมันปาล์มที่ผ่านคุณสมบัติ รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 101,700 ตัน เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ช่วยเหลือชาวสวนปาล์ม คาดเริ่มส่งมอบน้ำมันปาล์มดิบเข้าคลังเดือนธันวาคมนี้
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือ 133,750 ตัน เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงให้ครบ 200,000 ตัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ล่าสุด กฟผ. ได้ดำเนินการคัดเลือกโรงสกัดน้ำมันปาล์มที่มีสตอกน้ำมันปาล์มดิบไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่เสนอขายให้ กฟผ. 26 ราย ซึ่งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้พิจารณาจัดส่งรายชื่อให้กับ กฟผ. ตรวจสอบสตอกน้ำมันปาล์มดิบทั้งก่อนเข้าร่วมเสนอขายและหลังการส่งมอบน้ำมันปาล์มดิบ ตลอดจนเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อที่เหมาะสมให้ กฟผ.ใช้เป็นราคารับซื้อ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 กฟผ.ประกาศรายชื่อผู้ชนะการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 17 บริษัท ได้แก่ บริษัท ภัทรปาล์มออยล์ จำกัด, บริษัท เอส.พี.โอ.อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด, บริษัท ท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ไทยทาโลว์แอนด์ออยล์ จำกัด, บริษัท ปาล์มพันล้าน จำกัด, บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พิทักษ์ปาล์มออยล์ จำกัด, บริษัท เอเจ ปาล์มออยล์ จำกัด, บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญ น้ำมันปาล์ม จำกัด, บริษัท ประจงกิจปาล์มออยล์ จำกัด, บริษัท ธนาปาล์มโปรดักส์ จำกัด, บริษัท พี.ซี.ปาล์ม (2550) จำกัด, บริษัท ป.พานิชรุ่งเรือง ปาล์มออยล์ 2 จำกัด, บริษัท กลุ่มสมอทอง จำกัด, บริษัท ทองมงคลอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด และบริษัท ชุมพร เอส.พี.ปาล์มออยล์ จำกัด รวมปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ 101,700 ตัน
โดยคาดว่าจะเริ่มลงนามสัญญาในประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อส่งมอบน้ำมันปาล์มดิบเข้าคลังน้ำมันปาล์มดิบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นไป และคาดว่าจะใช้น้ำมันปาล์มดิบ 101,700 ตัน เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าหมดภายในเดือนเมษายน 2563 ส่วนน้ำมันปาล์มดิบที่เหลืออีก 32,050 ตัน กฟผ. จะจัดซื้อเพื่อดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบเพื่อยกระดับราคาผลปาล์มตามวัตถุประสงค์ของฝ่ายนโยบายต่อไป
ทั้งนี้ การรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ. เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐภายใต้ขั้นตอนที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรแล้วรวมทั้งสิ้น 226,250 ตัน.-สำนักข่าวไทย