8 พ.ย. – ผู้เสียหายทยอยเข้าแจ้งความ หลังถูกตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์ล่อซื้อ ข่มขู่เรียกค่าเสียหาย มูลค่ารวมกันกว่า 720,000 บาท
ความคืบหน้าคดีขบวนการล่อซื้อจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนดัง ที่ จ.นครราชสีมา ยังมีผู้ทยอยเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด น.ส.นฤมล เชียงใหม่ อายุ 44 ปี ชาว อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบ หลังถูกตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์ล่อซื้อจับกุมผ้าขนหนูลายการ์ตูนโดราเอมอน 10 ผืน พฤติการณ์แบบเดียวกัน คือ ติดต่อซื้อในเฟซบุ๊กให้จัดหาผ้าขนหนูมาขายให้ ก่อนตัวแทนชายและหญิง 3 คน พาตำรวจนอกเครื่องแบบ 1 คน บุกจับกุม จากนั้นพาไปโรงพัก ข่มขู่เรียกเงินค่าเสียหาย 50,000 บาท ถ้าไม่จ่ายจะมีโทษหนักถึงจำคุก และต่อรองเหลือ 30,000 บาท ด้วยความกลัวติดคุก จึงจำใจให้ญาติ ๆ รวบรวมเงินจากซองบุญช่วยงานศพญาติ นำไปจ่ายให้กับตัวแทน จึงยอมถอนคดี
ล่าสุดมีผู้เสียหายทยอยเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพิ่มขึ้นรวม 38 ราย ยอดเงินที่ถูกเรียกจ่ายเป็นค่าละเมิดรวมกันกว่า 720,000 บาท คาดจะมีผู้เสียหายอีกหลายรายเข้าแจ้งความเพิ่มอีก
สำหรับผู้เสียหายทั้ง 38 ราย ถูกจับกุมพื้นที่ 4 โรงพัก ประกอบด้วย สภ.เมืองนครราชสีมา 27 ราย สภ.โพธิ์กลาง 8 ราย สภ.พิมาย 1 ราย สภ.โชคชัย 1 ราย และ สภ.สูงเนิน 1 ราย ในจำนวนนี้มี 16 ราย ถูกล่อซื้อจับกุมสินค้าการ์ตูนโดราเอมอน ขณะที่มีข้อมูลยืนยันว่าลิขสิทธิ์การ์ตูนโดราเอมอนสิ้นสุดการคุ้มครองตั้งแต่ปี 2537 ตัวแทนลิขสิทธิ์อาจไม่มีอำนาจจับกุม
ส่วนแนวทางการดำเนินคดี พนักงานสอบสวนกำลังเร่งรวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุม ก่อนจะแจ้งข้อหาตัวแทนลิขสิทธิ์ฐานความผิด 4 ข้อหา ประกอบด้วย ข้อหาปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอม ข้อหาแจ้งความเท็จ ข้อหาร่วมกันกรรโชกทรัพย์ และข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว และอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้กระทำผิดอย่างน้อย 3-4 คน ต่อไป
ด้าน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงต่อสื่อมวลชน หลังตัวแทนบริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์จำหน่ายสินค้าของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ฝ่าย กม. และผู้บริหาร เข้าพบหารือ โดยยืนยันว่ากระทงของเด็กอายุ 15 ปี ที่นครราชสีมา ไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากตรวจสอบแล้วกระทงดังกล่าวไม่มีความเหมือนหรือคล้ายตัวการ์ตูน ริลัคคุมะ ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ แต่อย่างใด เพราะไม่เหมือนทั้งใบหน้า หู ตา และปาก เป็นแค่กระทงรูปหมีธรรมดา ทำให้เด็กอายุ 15 ปี กลับกลายเป็นผู้เสียหาย สามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งและอาญากับนายประจักษ์ โพธิผลได้ รวมถึงได้รับเงินค่าชดเชยกับการถูกดำเนินคดี พร้อมยืนยัน บริซัทเวอร์รีเซค ไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทแซนเอ็กซ์แล้ว ส่วนนายประจักษ์จะเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ ตีกิน หรือแจ้งความเท็จหรือไม่ ต้องรอการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดก่อน แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท เวอร์ริเซ็ค ไม่ใช่ตัวแทนลิขสิทธิ์ของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ฯ แล้ว
ส่วนตำรวจที่ร่วมจับกุมกรณีเด็กขายอายุ 15 ปี ตรวจสอบแล้วพบว่าดำเนินการไปตามขั้นตอน หลังรับแจ้งจากผู้ร้อง พร้อมยืนยันหลังจากนี้จะต้องไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะนี้อีก กำชับให้ตำรวจทุกพื้นที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานตัวแทนลิขสิทธิ์ให้ถี่ถ้วนมากกว่านี้ .- สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►พลิกแล้ว! คดีกระทงเด็กวัย 15 บ.ลิขสิทธิ์ยันไม่เหมือน”ริลัคคุมะ”