มหาสารคาม 24 พ.ย. – การจับกุม “นัน กิ่งเพชร” ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทลายขบวนการล่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เรียกรับเงินผู้เสียหาย โดยขณะนี้ยังเหลือผู้ต้องหาตามหมายจับอีก 1 คนที่ยังหลบหนี
สำหรับนายภูมิภากร ถินสุวรรณ์ หรือ “นัน กิ่งเพชร” อายุ 42 ปี ถูกศาลจังหวัดมหาสารคาม อนุมัติหมายจับฐานกรรโชกทรัพย์ ร่วมกับนายพิพล โตตันติกุล อายุ 39 ปี ภูมิลำเนากรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงนายพิพล ที่ยังหลบหนีอยู่ แต่มีรายงานจากชุดสืบสวนว่า อยู่ระหว่างเร่งไล่ล่าติดตามตัวอย่างกระชั้นชิด เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีและขยายผลหาผู้ร่วมก่อเหตุ
สำหรับข้อกล่าวหาที่คาดว่า จะแจ้งผู้ต้องหาหลังสอบปากคำโดยพนักงานสอบสวน สภ.เมืองมหาสารคามเสร็จสิ้น คาดว่าจะมีอย่างน้อย 4 ข้อหา ทั้งแอบอ้างเป็นตำรวจ หน่วงเหนี่ยวกักขัง กรรโชกทรัพย์ และแจ้งความเท็จ โดยโทษที่หนักที่สุดคือกรรโชกทรัพย์ ซึ่งต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี
สำหรับคดีของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย น.ส.ชญานิศ นามไพร ผู้เสียหาย เข้าร้องทุกข์ว่า ถูกผู้ต้องหากรรโชกทรัพย์ระหว่างล่อซื้อลิขสิทธิ์ โดยพฤติการณ์ คือ ได้ติดต่อผู้เสียหายผ่านทาง Facebook ว่าจ้างทำตู้ใส่ของลาย “โดราเอมอน” 2 ใบ ในราคา 500 บาท และนัดส่งของที่ศูนย์การค้าในตัวเมืองมหาสารคาม แต่เมื่อจ่ายเงินกันเสร็จสิ้น ปรากฏว่า “นัน กิ่งเพชร” ได้แอบอ้างเป็นตำรวจยึดของกลางและเงินล่อซื้อ ส่วนนายพิพล อ้างเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจลิขสิทธิ์ พร้อมขู่กรรโชกจะดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท แต่ท้ายสุดเจรจาตกลงค่าปรับ 50,000 บาทแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี จนกระทั่งวันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่งมีนักศึกษาในนครราชสีมา โพสต์ Facebook ถูกจับกระทงละเมิดลิขสิทธิ์จนเป็นข่าวโด่งดังและมีข่าวว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ น.ส.ชญานิศ จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ สภ.เมืองมหาสารคาม
ส่วนคดีความที่เกิดขึ้นในท้องที่ สภ.เมืองนครราชสีมา พบว่ารายแรกคือกรณีของนักศึกษาสาวที่ทำกระทงขายใน Facebook แต่ถูกล่อซื้อจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากขณะนั้นสังคมยังไม่แน่ชัดว่าผู้ก่อเหตุเป็นมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสหากินกับเรื่องดังกล่าว
หลังจากนั้นจึงมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว และมีข้อมูลเปิดเผยว่า “นัน กิ่งเพชร” อาจไม่ใช่ตัวแทนลิขสิทธิ์ตัวจริง จึงมีเหยื่อหลายคนที่เคยถูกล่อซื้อในลักษณะคล้ายกัน เดินทางแจ้งความอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่ถูกเรียกเงิน 10,000 – 50,000 บาท แต่บางรายสูงถึง 100,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านบาท โดยคาดว่าหากขยายผลเพิ่มเติมน่าจะพบมูลค่าความเสียหายมากกว่านี้ .- สำนักข่าวไทย
ชมข่าวที่เกี่ยวข้อง
► “นัน กิ่งเพชร” ให้การภาคเสธ-คุมตัวดำเนินคดีมหาสารคาม
► เด้ง ผกก.เมืองโคราช เซ่นกระทงลิขสิทธิ์
► แม่ค้ากระทงผวาลายการ์ตูน งดขาย
► พลิกแล้ว! คดีกระทงเด็กวัย 15 ลิขสิทธิ์ยันไม่เหมือน “ริลัคคุมะ”