เมืองทองธานี 3 พ.ย.-ปิดฉากเวทีสุดยอดผู้นำธุรกิจ ABIS2019 ชูความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หนุนการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน เวียดนามพร้อมเป็นเจ้าภาพปีหน้า
นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) กล่าวว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ABIS2019 ที่จัดขึ้นตลอด 2 วันที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด Empowering ASEAN 4.0 สอดคล้องกับแนวคิดหลักของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ที่ต้องการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการดำเนินการของประชาคมอาเซียนในปี 2562 โดยการประชุมมีการนำเสนอประเด็นสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1. Digital Infrastructure การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 2. Digital Connectivity การสร้างความเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการค้า การลงทุนในอาเซียน 3. Human Empowerment and Development การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดความสามารถใหม่และลดปัญหาการว่างงานในอาเซียน และ 4. MSME ผลักดันให้ผู้ประกอบการ MSME เข้าถึงนวัตกรรมและเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
ทั้งนี้บรรดาผู้นำประเทศและผู้นำธุรกิจในอาเซียน ยังได้เสนอแนวทางต่างๆ โดยเน้นย้ำเรื่องความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนในการเจรจาระหว่างประเทศ การสร้างความร่วมมือผ่านระบบ NSW (National Single Window) ในอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอาเซียนรับมือกับสงครามทางการค้า
นอกจากนี้อาเซียนควรพัฒนากฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน ตลอดจนการพัฒนาทักษะใหม่แก่แรงงาน โดยเฉพาะทักษะที่เกื้อหนุนกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และ สนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่จะสามารถสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต
นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ว่า สิ่งที่ขาดหายไปเวลาพูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรืออาเซียน 4.0 คือ ภาพในปลายทางว่าเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีจะนำพาเราไปสู่สิ่งดี ๆ อะไรบ้าง เช่น เรื่องของการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตนเองได้ ผ่านการศึกษา การเงิน หรือ ระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นและในที่สุดจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ในระยะยาว เรื่องของธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของประเทศจะสามารถใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับตลาดได้อย่างไร เรื่องของเกษตรกรที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น หากสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับตลาดและสภาพอากาศ เรื่องของพลังงานสะอาดที่จะทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น
“หากหันกลับมาดูอาเซียนจะพบว่าในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานอย่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือมือถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่ในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ยังตามไม่ค่อยทัน แปลว่าแม้ว่าเราจะใช้งานดิจิทัลมาก แต่โดยพื้นฐานเราไม่ได้สร้างงานหรือเตรียมแรงงานของเราที่จะรองรับงานที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้วมันก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าที่เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้จะทำลายงานจำนวนมากไปด้วยในอีกด้านหนึ่ง ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ เราต้องเตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ซึ่งมากกว่าครึ่งของอาเซียนยังอายุน้อยกว่า 30 ปี ให้พร้อมทำงานในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านั้น” นายสุรเกียรติ์กล่าว
ดร.ดอง ดุย เกือง (Doan Duy Khuong) Co-Chair Vietnam กล่าวว่า เวียดนามพร้อมจะรับตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2020 ซึ่งถือเป็นเกียรติและเป็นหน้าที่สำคัญของเวียดนามต่ออาเซียน เป็นโอกาสเพื่อมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาของประชาคม ดังนั้น เวียดนามจึงให้ความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่นี้ ซึ่งจะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Digital Asean for Sustainable Development” เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลแบบยั่งยืน เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ภูมิภาคอาเซียนควรร่วมมือกันพัฒนาและผลักดันให้เกิดขึ้นจริง อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย