เมืองทองธานี 2 พ.ย. –
ภาคเอกชนไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจ ABIS2019
ชูแนวคิด “Empowering ASEAN 4.0” เตรียมพร้อมอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้
สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน
ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน
(กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพในจัดการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN
Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019
ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยเวทีดังกล่าวถือเป็นเวทีคู่ขนานสำคัญของการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN
Summit) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีผู้นำประเทศ
ผู้นำธุรกิจและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมงานกว่า 1,200 คน
นายอรินทร์ จิรา
ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council:
ASEAN-BAC) กล่าวว่า
ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน เวทีประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจ
ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019
ที่จัดขึ้นในครั้งนี้จึงถือเป็นเวทีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนท่ามกลางความท้าทายใหม่
ขณะเดียวกันยังถือเป็นการยกระดับความร่วมมือและแสดงให้ประจักษ์ถึงการเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของอาเซียน
โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Empowering
ASEAN 4.0
มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล
สอดคล้องกับแนวคิดหลักของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ร่วมสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการดำเนินการของประชาคมอาเซียนในปี
2562 ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ 1. Digital Infrastructure การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
2. Digital Connectivity การสร้างความเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัล
เพื่อรองรับการค้า การลงทุนในอาเซียน 3. Human Empowerment and Development
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดความสามารถใหม่และลดปัญหาการว่างงานในอาเซียน
และ 4. MSME ผลักดันให้ผู้ประกอบการ MSME เข้าถึงนวัตกรรมและเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
“ASEAN 4.0 เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
ที่ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องตระหนักและปรับตัว เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัล
กำลังเข้ามามีบทบาทและสร้างผลกระทบในอัตราเร่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาทิ
การเข้ามาแทนที่แรงงานทักษะต่างๆ ด้วยหุ่นยนต์
ปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาทดแทนงานบริการของประเทศสมาชิกในอาเซียน ฯลฯ การจัดประชุมครั้งนี้เราจึงมองว่าจะทำอย่างไรที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้ตระหนักและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พลิกผัน
สามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนอาเซียนและประชาคมอาเซียนได้มากที่สุด” นายอรินทร์กล่าว
สำหรับงานประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ABIS 2019
ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้
นอกจากจะได้รับการตอบรับความร่วมงานจากผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
(OECD) ยังได้รับเกียรติจากบรรดาผู้นำประเทศอาเซียนและผู้นำของบริษัทชั้นนำ
ที่จะมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์แห่งอาเซียน อาทิ แอร์เอเชีย, แกร็บ,
หัวเว่ย, โตโยต้า มอเตอร์, สิงคโปร์เทเลคอมมูนิเคชั่น,
เอสซีจี, ธนาคารกรุงเทพ, เชลล์
(ประเทศไทย), มิตซูบิชิ, ยูเอฟเจ
ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และกลุ่มบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส ฯลฯ
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า
การจัดงานครั้งนี้จะมีผู้นำจากประเทศต่างๆ
ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นเศรษฐกิจและสังคม
รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังเผชิญอยู่ การประชุม ABIS
ในส่วนของภาคการเงินการธนาคารมองโจทย์ความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลาง
ขนาดย่อม และรายย่อยในยุคแห่งอนาคต
ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นความท้าทายอันดับต้น ๆ ที่วิสาหกิจขนาดกลาง
ขนาดย่อม และรายย่อยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
อันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเติบโตและการพัฒนาธุรกิจในระยะยาว
โดยกลยุทธ์สำคัญในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว คือ
การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบนิเวศทางการเงินในภูมิภาค
และส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย
ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น
เชื่อว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อจัดทำเครื่องมือด้านการเงินในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่
4 หรือ 4IR ได้ช่วยการทำธุรกรรมทางด้านการเงินสะดวก
มีต้นทุนที่ถูกลง
และช่วยให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารก้าวไปสู่การให้สินเชื่อที่ดูจากฐานข้อมูลเป็นหลักมากขึ้น
(Information Base Lending) เช่น AI และ
Big Data ทำให้เกิดสินเชื่อและผู้ให้สินเชื่อในรูปแบบใหม่
การระดมทุนในรูปแบบ crowd funding และการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ผ่านตัวกลาง
หรือ P2P เป็นต้น
“นวัตกรรมทางด้านการเงินใหม่ๆ
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการบริการทางการเงินใหม่ที่จะช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลาง
ขนาดย่อม และรายย่อยในอาเซียนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคแห่งอนาคตได้เพิ่มมากขึ้น
การใช้ประโยชน์จากโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
และการความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลที่จะทำให้การค้าภายในภูมิภาคอาเซียนเติบโตอย่างก้าวกระโดด”
นายปรีดี กล่าว
นอกจากนี้ระหว่างการประชุมยังมีกิจกรรมคู่ขนานต่างๆ
เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในอาเซียน อาทิ งานแสดงสินค้า
งานจับคู่ธุรกิจการประชุมหารือกับภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ฯลฯ
รวมไปถึงงานประกาศรางวัล ASEAN Business Award 2019
(ABA) ที่จะจัดขึ้นภายหลังการประชุมในช่วงเย็นของวันที่
2 พฤศจิกายน 2562 โดยจะมอบรางวัล The Most Admired ASEAN Enterprise ให้แก่บริษัทที่ถือกำเนิดในอาเซียน
(home-grown ASEAN companies) บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (ASEAN
SMEs) ที่มีศักยภาพในการก้าวไปสู่การค้าระดับสากลและเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจอาเซียนให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
รวมจำนวนทั้งหมด 11 รางวัล
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.aseanbac2019.org
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
การประชุมอาเซียนในครั้งนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม
และวัฒนธรรมภายในภูมิภาคอาเซียน พร้อมมุ่งหวังผลักดันให้เกิด Industry
Transformation เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะต้องเตรียมพร้อมสู่โลกอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
และโลกธุรกิจยุคใหม่
เพื่อให้อุตสาหกรรมและธุรกิจสามารถเติบโตอยู่รอดอย่างยั่งยืนในอนาคต
และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ได้อย่างรวดเร็ว
นายไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการ
หอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการ ASEAN Business Awards (ABA)
2019 กล่าวว่า การจัดงาน ABA 2019
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจ
มุ่งยกย่องเชิดชูบริษัทอาเซียนที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นในด้านต่างๆ พร้อมไปกับการส่งเสริม
SMEs ในอาเซียนที่จะก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำและมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล
ซึ่งถือเป็นกลไกในสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
“เรามุ่งหวังว่ารางวัลดังกล่าวจะเป็น Best
Practice ที่จะส่งเสริมบริษัทเอกชนอื่นได้เรียนรู้
การดำเนินธุรกิจ และสามารถขยายการดำเนินธุรกิจสู่ประเทศในอาเซียน
ซึ่งหากบริษัทเอกชนรวม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียนมีความเข็มแข็ง
ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
จะช่วยส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” นายไพรัช
กล่าวในที่สุด . – สำนักข่าวไทย