กรุงเทพฯ 31 ต.ค. – กพร.โชว์ผลงานเทคโนโลยีรีไซเคิลเซลล์แสงอาทิตย์เก่าได้เงินบริสุทธิ์ และโลหะอะลูมิเนียมจากถุงบรรจุภัณฑ์ พร้อมผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียหมุนเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบทดแทน ที่ผ่านมาปี 53-62 สร้างมูลค่าเฉลี่ยปีละ 150 ล้านบาท
นายสุระ เพชรพิรุณ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2553 – 2562 กพร.พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลและถ่ายทอดให้กับผู้สนใจกว่า 2,000 ราย ทำให้เกิดธุรกิจรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมรายเล็กกว่า 50 ราย และผู้ประกอบการนำไปต่อยอดภายในสถานประกอบการเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 150 ล้านบาท
นายสุระ ยังเปิดตัวเทคโนโลยีรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ได้แร่เงินบริสุทธิ 99.98% ออกมาใช้ใหม่เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่ง กพร.เตรียมที่จะต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรีไซเคิลส่วนประกอบอื่นที่สำคัญจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ต่อ เช่น ซิลิกอน (Silicon) เนื่องจาก 5 ปีจากนี้ไปแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตพลังงานทางเลือกที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะเริ่มหมดอายุใช้งานและกลายเป็นของเสียระลอกแรก
นายสุระ กล่าวว่า ประเทศไทยมีขยะประเภทอะลูมิเนียมฟอยล์ ซึ่งรีไซเคิลได้ยาก จึงนิยมกำจัดด้วยการฝังกลบ ดังนั้น กพร.จึงพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลถุงบรรจุภัณฑ์ที่มีอะลูมิเนียมฟอยล์ ทำให้วัตถุดิบนำไปกลับใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมผลิตอลูมิเนียมได้และยังได้แวกซ์ออกมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม และจะมีการขยายผลแยกส่วนที่เป็นน้ำมันสำหรับผลิตเป็นเชื้อเพลิงระยะต่อไปด้วย นอกจากนี้ ยังพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลของเสีย เพื่อนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่รองรับอุตสาหกรรม S-Curve ได้แก่ เทคโนโลยีรีไซเคิลแม่เหล็กกำลังสูงในฮาร์ดไดรฟ์และมอเตอร์ไฟฟ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีโลหะหายากนีโอดีเมียม (Neodymium Magnet) เป็นองค์ประกอบ โดยโลหะนีโอดีเมียมนี้จะเป็นวัตถุดิบตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น
ทั้งนี้ กพร.พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของเสียฝุ่นสังกะสีที่ได้จากอุตสาหกรรมชุบเคลือบโลหะให้กลายเป็นสังกะสีซัลเฟต (Zinc Sulfate) ที่มีความบริสุทธิ์สูงซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยนำไปใช้ในการผลิตอาหารเสริมสำหรับสัตว์ และเป็นสารปรับปรุงคุณภาพดิน อย่างไรก็ตาม หากสามารถพัฒนากระบวนการรีไซเคิลทำให้สังกะสีซัลเฟตมีความบริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น ก็จะต่อยอดเป็นอาหารเสริมสำหรับคนหรือใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกหลายสิบเท่าในอนาคต
“ผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยนวัตกรรม (Innovation) และรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) โดยการเปลี่ยนขยะหรือ ของเสียที่ถูกมองว่าเป็นปัญหากลับมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบทดแทน หรือที่เรียกว่า “Waste to Resource” ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน” นายสุระ กล่าว.-สำนักข่าวไทย