กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – กรมชลประทานวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 62/63 ย้ำน้ำเขื่อนเหลือน้อยไม่สามารถส่งทำการเกษตรหลายพื้นที่ ขอทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งหน้าต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้จะเข้าสู่ฤดูแล้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ห่วงใยประชาชนเกี่ยวกับการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ หลายแห่งอยู่ในเกณฑ์น้อย
ทั้งนี้ กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนทั่วประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 จะมีน้ำใช้การได้ประมาณ 30,126 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) แบ่งเป็นการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 62 – 30 เมษายน 63 ประมาณ 17,587 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5,934 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 12,539 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักที่มีอยู่ขณะนี้ เพียงพอที่จะสนับสนุนเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้นเท่านั้น จึงกำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำ โดยกำหนดให้ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำต่าง ๆ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค เป็นครั้งคราว สำหรับลำน้ำหรือคลองส่งน้ำ ให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุด เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำเท่าที่มีความจำเป็น พร้อมทั้งขอความร่วมมือไม่ให้ปิดกั้นหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก โดยให้ยึดตามปฏิทินการสูบน้ำที่กรมชลประทานวางแผนรอบเวรการสูบน้ำไว้แล้ว ส่วนสถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่นสามารถสูบน้ำได้ตามปกติตามแผนการสูบน้ำที่ได้เสนอกรมชลประทานไว้แล้วก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือลดการเพาะเลี้ยงในบ่อปลา บ่อกุ้ง เขตโครงการชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน และในระบบชลประทาน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 เมษายน 2563 พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้งนี้และต้นฤดูฝนหน้า ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 ได้ และสำรองน้ำไว้เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีฤดูกาลผลิต ปี 2563 ได้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำอีกหลายแห่ง ที่สนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้นได้แก่ เขื่อนแม่มอก จังหวัดลำปาง เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนมูลบน จังหวัดนครราชสีมา และเขื่อนลำแซะ จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถจัดสรรเพื่อการเพาะปลูกได้
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย แต่ยังพอที่จะสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย (พืชไร่-พืชผักและพืชอื่นๆ) ได้แก่ เขื่อนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เขื่อนสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และเขื่อนประแสร์ จังหวัดระยองทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน
สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/2563 ทั้งประเทศได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกไว้ทั้งสิ้น 7.21 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรัง(นารอบที่ 2) 4.54 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก 2.67 ล้านไร่ โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเขตชลประทานไม่ส่งเสริมการเพาะปลูกพืช เนื่องจากน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อยต้องคงไว้สนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน กำหนดไว้ 1.64 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 1.05 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก 0.59 ล้านไร่ ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง 1.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 0.86 ล้านไร่ และพืชไรพืชผัก 0.26 ล้านไร่ ขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการในพื้นที่ พร้อมทั้งขอให้ติดตามข่าวจากทางราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่เกิดผลเสียหายต่อเกษตรกร รวมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้.-สำนักข่าวไทย