คปภ. 29 ต.ค. – กมธ.เศรษฐกิจฯ วุฒิสภาหนุนประกันภัยรายย่อย พัฒนาสวัสดิการชาวบ้าน ลดภาระเบี้ยประกัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ตรงกลุ่มเป้าหมายของเกษตรกร ผู้สูงอายุ ดูแลแรงงานต่างด้าวลดปัญหาตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐ
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รายงานแผนพัฒนาระบบประกันภัย เพื่อดูแลประชาชนรายย่อยให้เข้าถึงระบบประกัน ให้กับนายวิสุทธ์ ศรีสุพรรณ ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา พร้อมกรรมาธิการฯ ว่า ขณะนี้รัฐบาลมอบหมายการบ้านให้ คปภ.เน้นดูแลรายย่อย เพื่อพัฒนาระบบการดูแลชาวบ้านรายย่อยและผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ หวังระบบการดูแลสุขภาพครอบคลุมมากขึ้น ตอบโจทย์ให้กับชาวบ้านตามพื้นที่แตกต่างกัน เช่น ไข้เลือดออก ประกันทุเรียน ประกันชาวประมง เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ทำให้เบี้ยประกันลดลง ไม่กระทบต่อภาระเบี้ยประกันกับรายย่อย เห็นได้จากบริษัทประกันเข้าร่วมโครงการประกันภัยไข้เลือดออกถึง 23 รายในช่วงแรก
นายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ.ศึกษาแนวทางการดึงผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงระบบมากขึ้น ด้วยการจัดทำแบบประกันอุบัติเหตุรายย่อย คิดเบี้ยประกันถูกไม่เป็นภาระจ่ายรายเดือนเพียง 5-7 บาท ให้ความคุ้มครองกรณีประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต รวมถึงกรณีการทุพพลภาพสูงสุด 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงการทำประกันภัยมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล จึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้กว้างและตรงจุดกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประกันภัยพืชผลทางการเกษตรครอบคลุมพืชหลากหลายประเภทมากขึ้น และการประกันภัยทรัพย์สินของหน่วยงานราชการ หลังจากไทยได้รับผลประเมินของ FSAP ประจำปี 2561-2562 ไทยติดอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 4 ของโลกในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย จึงพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายรองรับการขยายฐานผู้เอาประกัน
นายสุทธิพล ยอมรับว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงต้องนำเทคโนโลยีกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย การทดสอบระบบประกัน การพัฒนาระบบฐานข้อมูล ผ่านแอปพลิเคชั่น “Me Claim” เพื่อให้บริษัทประกันใช้ประโยชย์ได้นำมาใช้ประโยชน์ ขยายการดูแลให้กว้างมากขึ้น คปภ.หารือสมาคมประกันวินาศภัยในการจัดทำแบบประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยแล้ว และเตรียมเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มสวัสดิการให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยรูปแบบการชำระเบี้ยอาจมี 2 ทางเลือก คือ ให้รัฐบาลเป็นคนจ่ายเบี้ยให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ทุกคน หรือเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เข้ามาทำประกันแบบภาคสมัครใจ เตรียมเสนอนำวงเงินในบัตรสวัสดิการไปซื้อแบบประกันได้ตามความสมัครใจ คิดเบี้ยประกันเบื้องต้น 7 บาทต่อเดือน แต่ถ้ามีคนทำจำนวนมากเป็นล้านคนราคาอาจถูกกว่านั้น เหลือไม่ถึง 5 บาท นอกจากนี้ คปภ.จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาครัฐมีงบประมาณสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบบำนาญ แบบเงินรายงวดตลอดชีพ และแบบประกันภัยการดูแลระยะยาว
ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจประกันภัยปี 2561 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับกว่า 860,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.99 ธุรกิจประกันชีวิต เบี้ยประกันภัยรับ 627,560 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.55 ธุรกิจประกันวินาศภัย เบี้ยประกันภัยรับ 231,990 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.20 ทำให้เบี้ยประกันภัยรวมทั้งระบบสัดส่วนต่อจีดีพีร้อยละ 5.27
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า การขยายตัวของเบี้ยประกันไทยช่วงที่ผ่านมายังเติบโตได้ดี จึงมีศักยภาพขยายตัวอีกมาก จากเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 6 ส่วนใหญ่ผู้ซื้อประกันระบบบน ระดับกลาง ผู้มีรายได้น้อย ยังเข้าไม่ถึงประกันมากนัก ยอมรับว่ายังไม่ครอบคลุม อาจกระทบต่อฐานะการคลังในอนาคตในการดูแลสุขภาพ ดังนั้น จึงต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงประกัน เมื่อชาวบ้านเริ่มเข้าถึงถุงเงินประชารัฐ แอปเป๋าตัง ผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย อีกจำนวนมาก เวลาเกิดปัญหาหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต จึงต้องมีระบบดูแลความมั่นคง เมื่อรายย่อยเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น หากค้าขายในตลาดมีกำไรบ้างเล็กน้อยต้องชวนออมเงิน หรือซื้อประกันบ้าง 5-7 บาทต่อเดือน เพื่อไม่เป็นภาระมากนัก หากมีแอปพลิเคชั่นสร้างวินัยให้นักเรียนผู้จบการศึกษาที่กู้เงินจาก กยศ.รู้จักใช้หนี้ รู้จักออมเงิน ระยะยาว ผ่านระบบประกัน เพื่อนำเทคโนโลยีการเงิน หารือกับ กยศ. กอช. เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว
นายสมพล เกียรติไพบูลย์ กรรมาธิการเศรษฐกิจฯ วุฒิสภา เสนอแนะว่าบทบาทของประกันภัยต้องเปลี่ยนไปมากช่องว่างในการพัฒนาระบบประกันภัยยังมีอีกมาก และยังต้องพัฒนาประกันภัยตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคม ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น ยอมรับว่ากฎหมายประกันภัยวิ่งสวนทางกับการพัฒนากระแสโลก ไทยคุ้นชินกับการออกกฎหมายจำนวนมาก จนกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ จึงต้องยึดใช้ พ.ร.บ.เป็นกฎหมายหลัก กฎหมายลูกค่อยนำเข้ามาประกอบ เพราะแก้ไขง่ายกว่า เมื่อกระแสโลกเปลี่ยนไป หากละเอียดมากไปขอให้ปรับ เพื่อให้กฎกระทรวงบังคับใช้ในแต่ละยุคสมัยให้สอดคล้องกับความจริง
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมาธิการเศรษฐกิจฯ วุฒิสภา เสนอให้จัดทำประกันภัยสุขภาพแรงงานต่างด้าว เพราะได้เข้ามาทำงานพัฒนาเศรษฐกิจไทยจะพัฒนาระบบประกันสุขภาพอย่างไร เพิ่มจากประกันสุขภาพ กองทุน สปสช.ในการจัดทำประกันดูแลแรงงาน เพื่อลดข้อครหาการดูแลแรงานต่างด้าว และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นางประภาศรี สุฉันทบุตร กรรมาธิการเศรษฐกิจฯ วุฒิสภา เสนอแนะว่า ผู้สูงอายุ 65 ปี จะไม่ทำประกันภัยสุขภาพ หรือประกันอื่น ๆ ให้ เพราะมีอายุมากแล้ว จึงเสนอให้ทำประกันได้แต่เบี้ยถูกลงหรือมูลค่าชดเชยลดลง เพื่อดูแลสังคมผู้สูงอายุ และปัจจุบัน คปภ.แบล็คลิสต์โรงพยาบาลเอกชนประมาณร้อยละ 20 หลังกระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคากลาง แม้ว่าโรงพยาบาลบางแห่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มราคาถูก แต่ยังไม่ถูกปลดแบล็คลิสต์ เพื่อต้องการให้นำมาให้บริการกับผู้ป่วยหลังได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเสนอ คปภ.กำกับดูแล การเวนคืนประกันค่อนข้างยุ่งยาก รายละเอียดเยอะมาก ผู้สูงอายุ หรือคนทั่วไปอ่านแล้วไม่เข้าใจการขอคืน หรือได้รับเงินคืนหากต้องขอเงินก่อนครบกำหนด จึงขอให้จัดทำแบบสรุปเข้าใจง่าย
นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ กรรมาธิการเศรษฐกิจฯ วุฒิสภา เสนอแนะว่า ผู้ซื้อประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ มีตัวชี้วัดอย่างไร เช่น การซ่อมรถ มีบรรทัดฐานอย่างไร การรักษาสุขภาพ ได้รับบริการดูแลอย่างไร ทำไมต้องจ่ายเงินสดไปก่อน เมื่อซื้อประกันไปแล้ว และการร้องเรียน ได้รับการดูแลอย่างไร และติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์การให้บริการของบริษัทประกัน.-สำนักข่าวไทย