กรุงเทพฯ 28 ต.ค. – เลขาธิการสมาคมประมงฯ ระบุตัด GSP สินค้าอาหารทะเล โดยสหรัฐอ้างไทยยังไม่ยกระดับสิทธิและสวัสดิการแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลนั้น หากรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุดจะเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมงแน่นอน
นายชินชัย สถิรยากร เลขาธิการ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่สหรัฐอเมริกาประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) ของไทย 571 รายการ โดยรวมสินค้าอาหารทะเลด้วยนั้น อาจส่งผลกระทบทางตรงแก่ผู้ประกอบการประมงน้อย เนื่องจากสินค้าอาหารทะเลส่งออกไปสหรัฐมีมูลค่าไม่มาก แต่เรื่องที่กังวล คือ ข้ออ้างของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ระบุว่าเพราะไทยยังไม่สามารถยกระดับสิทธิและสวัสดิการแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ตามความเห็นส่วนตัวนั้น หากโอนอ่อนตามข้ออ้างของสหรัฐจะส่งผลกระทบทางอ้อมรุนแรงต่อภาคการประมง เนื่องจากแรงงานประมงเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าว ที่ผ่านมาผู้ประกอบการประมงร่วมมือกับรัฐบาลในการคุ้มครองแรงงานแล้ว
ทั้งนี้ ทางกระทรวงแรงงานรายงานผลการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากลว่าไทยขจัดการใช้แรงงานเด็กสำเร็จระดับสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งกระทรวงแรงงานของประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ผลการประเมินสถานการณ์การขจัดการใช้แรงงานเด็กใน 132 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ส่วนการปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TiP Report) ประจำปี 2561 โดยสหรัฐปรับสถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 Watch List มาเป็นระดับ Tier 2 หมายถึงประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์ แต่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขปัญหา โดยประเทศไทยเคยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 2 ครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 2552 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับสูงขึ้นเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อทิศทางความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยในการป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์
นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (EU) ยังประกาศปลดใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของประเทศไทย เนื่องจากเห็นผลในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ทั้งด้านอายุแรงงานที่เหมาะสมในการทำประมง เวลาพักในขณะทำงาน การกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม ให้แรงงานประมงได้เข้าถึงสวัสดิการทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพ การปรับปรุงกฎหมาย พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่เก็บเงินแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนและเป็นประเทศที่ 14 ของโลกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานภาคประมง ค.ศ.2007 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 โดยตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.2562 เพื่อคุ้มครองแรงงานประมงให้ได้รับสิทธิด้านสุขภาพ ประกันสังคม และความปลอดภัยในการทำงาน โดยจะมีผลบังคับใช่ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
นายชินชัย กล่าวต่อว่า แรงงานประมงได้ค่าแรงตั้งแต่ 300 บาทต่อวันตามค่าแรงงานขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นตามฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบการจ่ายให้เป็นรายเดือน โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารและจ่ายตลอดทั้งปี แม้เรือส่วนใหญ่จะออกทำประมงได้เพียงปีละ 220-244 วันแล้วแต่ชนิดเครื่องมือ หากเพิ่มสิทธิและสวัสดิการแรงงานประมงมากขึ้นอีก แรงงานต่างด้าวจะได้รับสิทธิและสวัสดิการมากกว่าแรงงานไทย ที่สำคัญจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการทำประมง เนื่องจากปัจจุบันนี้เฉพาะค่าแรงงานและค่าเชื้อเพลิงรวมกันเท่ากับร้อยละ 75 ของต้นทุนการทำประมงแล้ว จึงหวังว่ารัฐบาลจะไม่โอนอ่อนตามอ้างของสหรัฐและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
จากข้อมูลของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สินค้าประมงที่สหรัฐนำเข้าจากไทยและได้รับสิทธิ GSP ในปี 2560 มี 22 รายการได้แก่ เนื้อปูแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง เนื้อปลาแช่แข็ง หอยต้มบรรจุกระป๋อง ปูอัด เป็นต้น มูลค่า 13.47 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 400 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย