กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – กยท.จ่อเปิดตัวบริษัทลูกร่วมสถาบันชาวสวนยาง หวังดันราคายางยั่งยืน ระบุโครงการประกันรายได้ 60 บาท/กก. ถึงมือเกษตรกร 1 พ.ย.นี้แน่นอน
นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายนจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กยท. (บอร์ดกยท.) ให้พิจารณาจัดตั้งบริษัทลูกร่วมสถาบันชาวสวนยางพารา เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกับสถาบันเกษตรกร หลังผ่านบอร์ด กยท. แล้วจะเร่งจดทะเบียนบริษัทโดยเร็ว ทั้งนี้ จะเดินหน้าพัฒนาโรงงานผลิตยางของ กยท.ที่มีอยู่ทั้ง 6 แห่งให้มีศักยภาพในการดำเนินงาน เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อโรงงานของ กยท.ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วจะเพิ่มปริมาณแปรรูปมากขึ้น ทำให้สามารถรองรับวัตถุดิบจากตลาดที่ กยท.เปิดรองรับผลผลิตยางพาราของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั้งน้ำยางสด ยางแผ่น และยางก้อนถ้วย โดย กยท.ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีตลาดในการซื้อขาย
นายสุนันท์ กล่าวว่า ความคืบหน้านโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับ กยท. ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 จนถึงขณะนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ร่วมโครงการ 1,711,252 ราย แบ่งเป็นเจ้าของสวน ผู้เช่า/ผู้ทำ 1,412,017 ราย และคนกรีดยาง 299,235 ราย คิดเป็นพื้นที่ 17,201,391 ไร่ โดยให้มีการประกันรายได้ รายละไม่เกิน 25 ไร่ ที่ปริมาณผลผลิตยาง เป็นยางแห้ง 240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก./ไร่/เดือน กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 โดยการประกันรายได้แบ่งตามประเภทยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. ซึ่งใช้อ้างอิงจากราคากลางที่ประกาศทุก 2 เดือนและจ่ายเงินประกันรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการรอบแรกวันที่ 1-15 พฤศจิกายน ซึ่งจะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง สำหรับงบประมาณในโครงการประกันรายได้ยางพารานั้นรวมทั้งสิ้น 24,278,626,534 บาท.-สำนักข่าวไทย