กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – เกษตรกรเตรียมยื่นศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว หากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันนี้มีมติแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงเช้าวันนี้ (22 ต.ค.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.30 น.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดประชุมที่กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญและกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนและเกษตรกรทั่วประเทศ คือ วาระการพิจารณาว่าจะห้ามการใช้หรือแบน 3 สารเคมีทางการทางการเกษตร คือ สารพาราควอต สารไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส หรือไม่
ก่อนการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย บรรยากาศรอบตึกสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมมีกลุ่มตัวแทนเกษตรกรหลายกลุ่มที่คัดค้านการแบน 3 สารเคมี เช่น เครือข่ายเกษตรกรจากจังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรจากอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี นำโดยนางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก จากจันทบุรี ซึ่งปลูก ทุเรียน มังคุ ลำไย และเงาะ เป็นต้น นำโดยนายกิตติ จันทวิสูตร ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก ได้เข้ามาให้กำลังใจคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับยื่นหนังสือคัดค้านการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตรที่ขณะนี้ชาวสวนใช้ในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ซึ่งใช้มานาน 40-50 ปีในสวนผลไม้และพืชไร่ พร้อมนำรายชื่อเครือข่ายเฉพาะที่ร่วมประชุมกันก่อนหน้านี้ที่ลงลายมือชื่อสนับสนุนการใช้ 3 สารเคมีประมาณ 426 ราย ยื่นให้ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่บรรยากาศไม่ได้มีความรุนแรงหรือเกิดการกระทบกระทั่งเกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีตัวแทนกลุ่มผู้สนับสนุนให้แบน 3 สารเคมีเดินทางมาที่กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม
สำหรับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ 29 คน ตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรม 3 คน ประกอบด้วย นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย และอีก 2 คน คือ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย และนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ซึ่งเมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุไว้ชัดเจนว่า กรรมการวัตถุอันตรายตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมทั้ง 3 คน จะเสนอให้แบน 3 สารเคมีอย่างแน่นอน และเบื้องต้นทราบว่าในการประชุมวันนี้กรรมการวัตถุอันตรายที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมออกเสียง แบน 3 สารเคมี อีก 1 เสียงด้วย
สำหรับการลงมติจะแบนหรือไม่แบน 3 สารเคมีอันตราย จะเป็นแบบเปิดเผยว่าเป็นเสียงจากตัวแทนจากหน่วยงานใด หรือจะใช้การออกเสียงในแบบลับนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ก่อนหน้านี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันนี้จะเป็นในทิศทางใด จะแบนหรือไม่แบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงเตรียมมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมไว้รองรับไว้แล้ว หากมีมติออกมาว่าให้แบน 3 สาร ทางกรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมสารชีวภัณฑ์ สารกำจัดวัชพืช และสารกำจัดแมลงอื่น รวมทั้งวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยต้นทุนการผลิตของเกษตรกรต้องไม่สูงขึ้น ในส่วนประชาชนต้องได้บริโภคอาหารปลอดภัย จึงรอฟังผลที่ประชุม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่แก้ปัญหา ไม่ใช่หนีปัญหา ต้องแก้ไข ให้เป็นสิ่งต้องทำเพื่อคนไทย
นางสาวอัญชุลี กล่าวภายหลังยื่นหนังสือให้ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า กลุ่มขอคัดค้านการตั้งคณะทำงาน 4 ฝ่าย เดินหน้าแบน 3 สารเคมีของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากผิดบัญชานายกรัฐมนตรีฉบับที่ 2 ให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น 4 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มได้ทำหนังสือคัดค้านส่งให้นางสาวมนัญญาและปลัดกระทรวงเกษตรฯ แล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณา จึงนำสำเนาพร้อมหนังสือคัดค้านส่งให้นายภานุวัฒน์ และขอให้นายภานุวัฒน์ ยืนหยัดตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งนายภานุวัฒน์รับทราบพร้อมนำหนังสือคัดค้านการแบน 3 สารเคมีเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย
นางสาวอัญชุลี กล่าวว่า หากวันนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติออกมาให้แบน 3 สารเคมีทางการเกษตรจริง วันที่ 28 ตุลาคมนี้ เวลาประมาณ 13.00 น. ทางกลุ่มเกษตรกรจะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางให้คุ้มครองชั่วคราว พร้อมยื่นถอดถอนมติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่เป็นต้นเหตุของการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร โดยจะร้องต่อศาลว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในการนำมาสู่การแบน 3 สารเคมีทางการเกษตรในวันนี้ และผลเสียหายจากการพยายามยกเลิก 3 สารเคมีทางการเกษตรนี้ได้ทำให้ราคาสารเคมีปรับเพิ่มขึ้นสร้างความเสียหายให้เกษตรกรแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท จากเดิมก่อนที่จะมีการเสนอแบนปี 2561 ราคาแพงขึ้นจากลิตรละ 80 บาท เป็นลิตรละกว่า 100 บาท และในอนาคตยังไม่ทราบสารใหม่ที่จะทดแทนที่ราคามักขยับขึ้นครั้งละ 50 บาท นับเป็นการทำร้ายเกษตรกร
สำหรับเนื้อหาของหนังสือที่นายกิตติ จันทวิสูตร ตัวแทนเกษตรกรจากภาคตะวันออกยื่นต่อนายภานุวัฒน์ เป็นหนังสือ เรื่อง ขอคัดค้านการยกเลิก 3 สารเคมี โดยเป็นหนังสือที่แจ้งเรียนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมแนบรายชื่อผู้ขอคัดค้านที้งหมดรวม 29 แผ่น จำนวน 426 รายชื่อ เนื้อหาระบุว่าตามที่เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออกได้มีการประชุมและหารือในเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความคิดที่จะยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ตัว คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอส เมื่อเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ที่องค์การบริหารนส่วนจังหวัดจันทบุรี ในที่ประชุมมีมติท้ังหมดว่า ให้ยับยั้งการยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว โดยให้เหตุผลพอสรุปได้ว่า 1.ภาครัฐในการหาสารทดแทนยังไม่มีความชัดเจนว่า จะใช้สารอะไรทดแทน ราคาของสารทดแทนใกล้เคียงกับของเดิมหรือไม่ ประสิทธิภาพอย่างไร 2. ความอันตรายที่กล่าวถึงดูแล้วไม่สมเหตุสมผล ถ้าหากใช้อย่างถูกวิธี เพราะเกษตรกรที่ใช้สารเคมีดังกล่าว มีการใช้กันมาหลายช่วงอายุคน ไม่มีครอบครัวไหน ได้รับอันตรายตามที่กล่าวอ้าง 3. ถ้าหากสาร “กูลโฟซิเนต” ซึ่งจะนำมาทดแทนสารพาราควอตและไกลโฟเซตจริง ตามที่เป็นข่าวจะทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
จากข้อสรุปในที่ประชุมของ “เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก” จึงมีมติตรงกันว่า เห็นควรให้ยับยั้งการยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออกและเครือข่ายต่าง ๆ
นายสุกรรณ์ สังขวรรณะ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกร กล่าวว่า เตรียมดอกไม้จันทน์ไว้ หากคณะกรรมการมีมติแบนจะจุดดอกไม้จันทน์ไว้อาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการที่มีความเห็นให้แบน ซึ่งจากคำสัมภาษณ์ที่ปรากฎก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวง 3 คนจะลงความเห็นแบน เช่นเดียวกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ยืนยันว่ากรรมการซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวง 3 คนจะแบน สำหรับกรรมการ 5 คน ซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น กลุ่มเกษตรกรจะติดตามว่า ลงความเห็นให้แบนตามคำสั่งของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรหรือไม่ ดังนั้น จึงฝากความหวังไว้กับกรรมการจากกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเกษตรกรว่า จะพิจารณาตามข้อมูลทางวิชาการและเข้าใจวิถีการทำเกษตรของเกษตรกร อีกทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน หากมีความเห็นให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการประกอบอาชีพใช้ต่อไป เกษตรกรจะขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง .-สำนักข่าวไทย