กรุงเทพฯ 20 ต.ค. – “มนัญญา” ลุ้นระทึกนับถอยหลัง 22 ต.ค.นี้ แบนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดหรือไม่ วอนคณะกรรมการวัตถุอันตรายปราณีคนไทยอย่าให้เจ็บป่วยมากกว่านี้ ยันไม่ใช่นักค้าสารเคมี หากรับจริงเรื่องเงียบแล้ว สั่งกรมวิชาการเกษตรเร่งนำบัญชีพืชสมุนไพรไทย 13 ชนิด ทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อขึ้นทะเบียนให้เกษตรกรได้ใช้เป็นทางเลือก
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 22 ตุลาคมจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้บรรจุวาระพิจารณาเกี่ยวกับสารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งตรงกับวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากเสร็จสิ้นประชุม ครม.อาจจะไปติดตามผลมติจากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากคณะกรรมการฯ ยังพิจารณาวาระนี้ไม่เสร็จสิ้น
“ลุ้นระทึกนาทีต่อนาที เพราะทุกเรื่องที่ทำไปนั้น สุดมือแล้ว ขณะนี้รอดูคณะกรรมการวัตถุอันตรายรับไม้ต่อไป นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำสุดตัวเช่นกัน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขนั้น กรมต่าง ๆ เดินหน้าแบน 3 สารตลอดทุกนาที แต่เมื่อทำมาถึงขนาดนี้มีความหวัง 90% ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติยกเลิก ซึ่งขอความกรุณาปราณีจากคณะกรรมการฯ ให้เห็นใจคนเจ็บ คนป่วย และอย่าให้คนไทยต้องมาเจ็บป่วยมากกว่านี้เลย” น.ส.มนัญญา กล่าว
น.ส.มนัญญา กล่าวต่อว่า จากนี้จะสั่งให้กรมวิชาการเกษตรนำบัญชีพืชสมุนไพรไทยมาผสมทำสูตรกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชแมลงโรค รวมทั้งสูตรทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพที่มีจำนวนมากให้เข้าสู่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เพื่อสามารถจำหน่ายได้ ที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพในไทยยังขึ้นทะเบียนยาก นอกจากนี้ สั่งกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรระงับการอบรมเกษตรกรที่ใช้สารเคมีไว้ก่อน แม้ประกาศกระทรวงเกษตรฯ 5 ฉบับเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดจะมีผลวันนี้ (20 ต.ค.) โดยให้รอมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีก 2 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มเกษตรกรที่ต้องการใช้สารเคมี 3 ชนิดต่อไประบุว่า ความพยายามยกเลิกครั้งนี้สารเป็นทฤษฎีสมคบคิด เพราะมีผู้ผลิต/ค้าสาร นักการเมือง และเอ็นจีโอได้ผลประโยชน์จากนำเข้าสารเคมีชนิดใหม่ น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ไม่ใช่อาชีพของตน และไม่เคยมีผลประโยชน์ มาดูได้ทั้งปูมหน้าปูมหลัง ถ้ามีเรื่องผลประโยชน์ การยกเลิกสารเคมีก็เงียบไปนานแล้ว ส่วนการหาสารทดแทนเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร สำหรับสารเคมียังมีอีกเป็นร้อยชนิดในท้องตลาดที่เกษตรกรเลือกใช้ได้ต้นทุนไม่สูงอย่างที่พูดกัน อีกทั้งได้ปรับตัวมาทำเกษตรปลอดภัยกันก่อนหน้านี้จำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย