กรุงเทพฯ 20 ต.ค. – ก.เกษตรฯ เดินหน้าจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดตามกฎหมายวันนี้ (20 ต.ค.) ส่วนเกษตรกรพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด สามารถใช้ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ อย่างเคร่งครัด จนกว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติอื่นใด 22 ต.ค.นี้
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ต้องดำเนินมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเสตตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ 5 ฉบับที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (20 ต.ค.) จนกว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติอื่นใด ซึ่งไม่ทราบว่าในการประชุมวันที่ 22 ตุลาคมนี้จะมีวาระพิจารณาเรื่องสารเคมีดังกล่าวหรือไม่ หากมีต้องรอดูว่าจะมีมติให้จำกัดการใช้ต่อไปหรือยกเลิก อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ได้แจ้งมาที่ รมว.เกษตรฯ แต่จะแจ้งไปที่กรรมการโดยตรง ซึ่งผู้แทนของกระทรวงเกษตรฯ เป็นกรรมการ 5 คน จากทั้งหมด 29 คนได้แก่ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมประมง และเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
“ไม่ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติอย่างไร กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติต้องทำตาม แต่ขณะนี้ยังคงต้องดำเนินมาตรการจำกัดการใช้ตามมติเดิม ไม่เช่นนั้นกระทรวงเกษตรฯ จะผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรด้านต่าง ๆ ไว้แล้ว” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายเชิดชัย จิณะแสน กรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและประธานคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือแจ้งประธาน ศพก. 882 อำเภอทั่วประเทศ ว่า เกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้ใช้ต่อไปได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎการใช้และข้อห้ามอย่างเคร่งครัดตามประกาศ 5 ฉบับของกระทรวงเกษตร ทั้งนี้ ภาคการเกษตรของไทยมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรเคมี กลุ่มเกษตรปลอดภัย และกลุ่มเกษตรอินทรีย์แต่ละกลุ่มเลือกวิถีเกษตกรรมตามสภาพพื้นที่ ทุนดำเนินการ และปัจจัยแวดล้อม แต่ขอให้สมาชิก ศพก.อย่าเปรียบเทียบว่าสินค้าเกษตรของกลุ่มใดดีกว่ากันจะทำให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่การแบ่งข้างตามกระแสโซเชียลมีเดีย
นายเชิดชัย กล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญ คือ อีก 2 วันข้างหน้า (22 ต.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากมีมติยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด อาจสร้างความเสียหายให้แก่กลุ่มเกษตรไร่อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพาราข้าวโพด และไม้ผล รวมถึงอื่น ๆ เกษตรกรเกรงว่าการช่วยเหลือของภาครัฐจะล่าช้าจนนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นรัฐบาล จึงขอให้ทุกภาคส่วนโปรดพิจารณาข้อมูลทางวิชาการอย่างรอบด้านและหันมาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกษตรกรต้องขาดเครื่องมือในการประกอบอาชีพและยังสร้างความแตกแยกทางความคิดในสังคมอีกด้วย
สำหรับประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับนั้น มีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด 6 มาตรการสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้และผู้รับจ้างพ่นสารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องผ่านการอบรม และหรือผ่านการทดสอบความรู้ตามหลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเนื้อหาที่อบรมประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้/อันตรายจากการใช้ ความเป็นพิษต่อร่างกาย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม การใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย การอบรมให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดและบทบาทหน้าที่ในฐานะที่แต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการใช้ 3 สารภายในเขตท้องที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
ส่วนมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น กำหนดให้ใช้พาราควอตและไกลโฟเสต เฉพาะกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลเท่านั้น ส่วนคลอร์ไพริฟอสให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล รวมทั้งกำหนดพื้นที่ห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท ที่ใช้สารกำจัดวัชพืช เพื่อกำจัดวัชพืชข้างทางรถไฟ และข้างถนน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย แต่ต้องมาขออนุญาตเพื่อใช้สารกำจัดวัชพืชตามพื้นที่และปริมาณที่กำหนดโดยตรงต่อกรมวิชาการเกษตร
ตามที่ประกาศกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้วันนี้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นและกรมวิชการเกษตรได้จัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพไว้แล้ว เกษตรกรและผู้รับจ้างพ่นต้องมีเอกสารรับรองการผ่านการอบรม ส่วนการจะซื้อสารเคมีจะต้องแสดงหลักฐานเกี่ยวกับชนิดพืชที่ปลูก พร้อมจำนวนพื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีที่จะได้รับอนุญาตให้ซื้อได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนมีความปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม.-สำนักข่าวไทย