กรุงเทพฯ 18 ต.ค. – แพทย์จุฬาฯ เตือนทุกฝ่ายศึกษารอบด้าน ก่อนตัดสินใจเรื่องสารเคมี 3 ชนิด แนะใช้ข้อมูลทางวิชาการ พิจารณาผลกระทบ ทางเลือกต่าง ๆ หากจะแบนจริงต้องแน่ใจว่ามีมาตรการรองรับที่ดีเพียงพอ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ประชาชนหันไปกินอาหารถูก เกิดทุพโภชนาการทั่วประเทศ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเสต ซึ่งฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้กำจัดสารเคมี 3 ชนิดนี้ โดยนำเสนอถึงความน่ากลัว ความตาย และความเป็นพิษ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต้องการใช้ต่อไป จนเกิดการทะเลาะกันรุนแรงในสังคม ดังนั้น รัฐและคณะกรรมการวัตถุอันตรายควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการตัดสินใจเชิงนโยบายมีหลายแนวทาง หากคิดจะแบน จะเกิดผลกระทบอะไร ต่อใครบ้าง และจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนหรือไม่ อย่างไร ถ้าแบนไปแบบไม่เตรียมมาตรการรองรับให้ดีอาจส่งผลต่อค่าครองชีพ ค่าอาหารการกิน และปริมาณผลผลิตทางการเกษตร
ทั้งนี้ การจะทำให้ปลอดสารพิษทุกหัวระแหง แต่หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงผลผลิต เนื่องจากปัจจัยด้านราคาที่แพงขึ้นจนไม่สามารถประทังชีวิตได้ รวมถึงมีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอจะเกิดปัญหาทุพโภชนาการ (เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม) คนรายได้น้อยต้องหันไปกินอาหารราคาถูกเน้นให้พลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่ปรุงหวานเค็มมัน เป็นโรคเรื้อรังเท่าทวีคูณในอนาคต กรณีที่ภาวะนี้เกิดขึ้น รัฐจะจัดการอย่างไร หลายครั้งที่รัฐประกาศนโยบายต่าง ๆ ด้วยความหวังดี แต่อาจเกิดผลกระทบทางลบตามมา
รศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศมากมายที่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณา หากตัดสินใจแบนต้องแน่ใจว่ามีทางเลือกพร้อมปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญหากเกิดผลกระทบต้องมีคนกล้าหาญเพียงพอที่จะแอ่นอกรับผิดชอบ แต่หากจะไม่แบน ควบคุมการใช้ให้รัดกุมกว่าเดิมก็ต้องแน่ใจว่าจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการจัดการผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายกังวล
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจนโยบายนี้ ขอให้รัฐเข้าใจปัญหานี้อย่างถ่องแท้จริง ๆ ใช้ข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ทั้งสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ โปรดอย่าอ้างว่าเป็นฝ่ายบริหารไม่จำเป็นต้องรู้ลึกเรื่องวิชาการ เพราะหากอ้างแบบนั้น ย่อมบ่งชี้ว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายของบ้านเมืองจะเป็นไปตามสิ่งที่ถูกป้อนเข้าหู โดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่าที่ป้อนเข้าหูมาจริงเท็จเพียงใดและมีแนวโน้มที่การตัดสินใจนั้น อาจได้รับอิทธิพลจากกิเลสหรือความกลัว มากกว่าเหตุผลและความรู้ รวมทั้งต้องย้อนมองถึงนโยบายในอดีตที่เกิดจากการเล่นด้วยกระแสความกลัว มีอิทธิพลจากข่าวลวงเผยแพร่อย่างมากมายและต่อเนื่อง จนผลของการตัดสินใจนั้นเกิดเป็นผลประโยชน์ต่อใครสักคนสักกลุ่มหรือหลายคนหลายกลุ่ม
“5 วันถัดจากนี้จะถึงวันที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุม จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งสำหรับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะพิจารณาทางเลือกในการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากมาย ไม่ใช่แค่ต่อเกษตรกรชาวนาชาวไร่ แต่หมายรวมถึงคนทั้งประเทศในระยะยาว” รศ.นพ.ธีระ กล่าว
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ไม่ว่ามติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะออกมาอย่างไร แต่กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายชัดเจนในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย ตลอดจนมีมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศ รวมถึงเตรียมมาตรการต่าง ๆ ในการสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรม ทั้งนี้ วันที่ 21 ตุลาคม กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลขอเข้าพบ เพื่อให้ชะลอการยกเลิกใช้ 3 สารเคมี ยินดีที่จะรับฟังข้อมูลต่าง ๆ ตลอดจนความเดือดร้อนของเกษตรกร พร้อมชี้แจงว่ากระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการรองรับทุกด้านแล้ว.-สำนักข่าวไทย