กรุงเทพฯ 17 ต.ค. – ไทยออยล์เร่งลงทุน 2 ปีนี้ 3 พันล้านเหรียญ จ้างงานเพิ่มกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการซีเอฟพี ที่จะก่อสร้างเสร็จปี 66 มาร์จิ้นเพิ่ม 4 เหรียญ/บาร์เรล พร้อมศึกษาต่อยอดซีเอฟพี คาดกำไรเพิ่ม 3 เท่าตัว เป็นพันล้านเหรียญในปี 73
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรรมการผู้จัดใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ เปิดเผยว่า ไทยออยล์ได้เริ่มลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด หรือซีเอฟพี วงเงินลงทุน 3,961 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุน 5 ปี 2562-2566 ประมาณ 4,834 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใน 2 ปีแรก (ปี 2562-2563) ลงทุนประมาณ 3,000 ล้านเหรียญฯ จ้างงานประมาณ 15,000-20,000 คน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรองรับการพัฒนาในพื้นทีอีอีซี และมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ หลังโครงการแล้วเสร็จปี 2566 ทำให้โรงกลั่นเพิ่มกำลังกลั่นกว่าร้อยละ 45 กำลังกลั่นเพิ่มจาก 275,000 เป็น 400,000 บาร์เรล/วัน ส่งผลให้มีน้ำมันและปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น โดยจะมีแนฟทาทั้งชนิดเบาและหนักเพิ่มขึ้นอีก 2.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งกำลังหารือกับกลุ่ม ปตท.ว่าจะร่วมลงทุนในโครงการปิโตรเคมีต่อเนื่องอย่างใด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดจะเป็นรูปแบบ โครงการต่อยอดซีเอฟพี (Beyond CFP) โดยโครงการซีเอฟพีจะทำให้ต้นทุนลดลงมาก เพราะสามารถลดการใช้น้ำมันดิบประเภทเบา ซึ่งมีต้นทุนสูงมาเป็นประเภทหนัก หรือต้นทุนถูกลงถึงร้อยละ 50 ราคาน้ำมันดิบจะลดลงประมาณ 6,000-7,000 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลค่าการกลั่นรวมเพิ่มจากประมาณ 7 เหรียญต่อบาร์เรลเป็นประมาณ 11 เหรียญ/บาร์เรล
“หลังจากโครงการซีเอฟพีเริ่มผลิตปี 2566 และต่อด้วยโครงการ Beyond CFP คาดว่าภายในปี 2573 ผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้วมีกำไรประมาณ 312 ล้านเหรียญฯ เพิ่มเป็นระดับพันล้านเหรียญ/ปี “นายวิรัตน์ กล่าว
นางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี กล่าวว่า ตามแผนลงทุนซีเอฟพี ทางไทยออยล์ไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีก หลังจากกลางเดือนตุลาคม 2562 บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิจำนวนรวม 565 ล้านเหรียญสหรัฐ อายุ 30 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.5 เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามา 300-400 ล้านเหรียญ/ปี รวม 4 ปี ประมาณ 1,400 ล้านเหรียญ และอีกส่วนหนึ่งการลงทุนโรงไฟฟ้าภายในโครงการ คือ ERU 250 เมกะวัตต์ ผู้ลงทุนคือ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือจีพีเอสซี อย่างไรก็ตาม หากปีหน้าจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมก็คงจะดูว่าอาจจะเป็นการสนองต่อความต้องการของนักลงทุนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งคงต้องดูความเหมาะสม
นายวิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพการลงทุนถึงปี 2573 นั้น เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ ตามวิสัยทัศน์ใหม่ ของไทยออยล์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภันฑ์ (Empowering Human Life through Sustainable Energy and Chemicals) ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ได้เป็นธุรกิจที่เป็นเฉพาะโรงกลั่นฯ เท่านั้น โดยจะครอบคลุม 3 ด้านหลัก คือ 1.ธุรกิจหลัก คือ การกลั่นและไฟฟ้า ซึ่งจะมีการเพิ่มกำลังผลิตจากโครงการซีเอฟพี, มีรายได้มั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้า ที่ถือหุ้นผ่านจีพีเอสซีและโรงไฟฟ้าของตนเอง ซึ่งมีกำลังผลิตรวมประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ การบริหารสินทรัพย์และการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การลงทุนธุรกิจเคมี ที่จะขยายห่วงโซ่การผลิตทั้งอะโรเมติกส์, โอเลฟินส์ และผลิตภัณฑ์พิเศษมูลค่าสูง และ 3.ธุรกิจนวัตกรรม ที่จะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ผ่านงานวิจัยและพัฒนา การร่วมทุนกับสตารท์อัพ เพื่อรองรับเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงที่ลดการใช้ฟอสซิล มีการใช้พลังงานทดแทน และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี ) เพิ่มขึ้น
สำหรับปี 2573 ตามกลยุทธ์ดังกล่าว หลัง Beyond CFP เป้าหมายสัดส่วนกำไรตามธุรกิจหลักจะมีสัดส่วนจากปิโตรเลียมเท่ากับปัจจุบันที่ร้อยละ 40 ขณะที่ปี 2566 หลังเสร็จซีเอฟพีจะมีสัดส่วนร้อยละ 70, ปิโตรเคมี จะมีสัดส่วนร้อยละ 40 จากปัจจุบันร้อยละ 37 โดยปี 2566 มีสัดส่วนร้อยละ 13 ส่วนธุรกิจไฟฟ้าจะมีสัดส่วนร้อยละ 15 เท่ากับสิ้นปี 2566 ขณะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 22.-สำนักข่าวไทย