กรุงเทพฯ 15 ต.ค. – กรมทางหลวง เดินหน้าแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้มีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในงานของกรมทางหลวง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานทั้งสำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงทั่วประเทศ นำมาตรการตามประเภทงานไปใช้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ สำหรับกรณีที่ระดับปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดังนี้
1) งานก่อสร้างและบำรุงทาง
1.1 จำกัดพื้นที่หน้างานที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
1.2 เข้มงวดมาตรการป้องกันและลดฝุ่นละออง เช่น การฉีดพรมน้ำ การทำความสะอาดล้อรถเข้า-ออก พื้นที่ก่อสร้าง การกวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง การปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย
1.3 จัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาขยะโดยเด็ดขาด
1.4 พิจารณาวิธีการก่อสร้างที่ใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิงน้อย เช่น warm mix asphalt
1.5 ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดี ห้ามใช้เครื่องจักรที่ก่อให้เกิดเขม่าควันดำ และงดใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วกับเครื่องจักร
1.6 อำนวยความสะดวกต่อการจราจรบนถนนบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดการจราจรติดขัดจากการก่อสร้างและบำรุงทาง
1.7 ทำความสะอาดเศษฝุ่นและเศษวัสดุที่สะสมบริเวณขอบทางและเกาะกลางอย่างสม่ำเสมอ
2) การให้บริการผู้ใช้ทางและบริหารจัดการจราจรบนสายทาง
2.1 ร่วมมือกับตำรวจทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ ในการตรวจจับยานพาหนะที่มีเขม่า ควันดำ และเข้มงวดไม่ให้มีการจอดรถในพื้นที่ผิวถนนที่มีการจราจรแออัด
2.2 จัดการจราจรให้ลื่นไหล ลดการติดขัด
2.3 บำรุงรักษาต้นไม้ริมทางหลวงให้อยู่ในสภาพดี อันจะช่วยจับฝุ่นละอองจากถนนได้บางส่วน
2.4 ดูแลต้นไม้ริมทางหลวงไม่ให้มีหญ้าแห้งและดับไฟอย่างทันท่วงทีหากเกิดมีการเผาไหม้ขึ้น
2.5 ร่วมสอดส่องเป็นหูเป็นตาการเผาไหม้ในที่โล่งและรายงานสถานการณ์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด
2.6 ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น หากมีข้อสั่งการเกี่ยวกับการจำกัดยานพาหนะบนทางหลวง
3) งานสำนักงาน
3.1 ลดการเดินทางของบุคลากร พิจารณาใช้เทคโนโลยีในการทำงานที่ช่วยลดการเดินทาง เช่น Teleconference หรือการใช้รถยนต์แก๊สโซลีน แทนเครื่องยนต์ดีเซลตามความเหมาะสม
3.2 ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว พิจารณาใช้การขนส่งสาธารณะ หรือใช้รถยนต์ร่วมกัน (Carpool) สำหรับการเดินทางเส้นทางเดียวกัน
3.3 จัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาขยะโดยเด็ดขาด
3.4 ประหยัดพลังงานในสำนักงาน
3.5 ปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ห้ามติดเครื่องยนต์ระหว่างจอดรถ
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรณีที่ระดับปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กรมทางหลวงจะดำเนินการปล่อยฝอยละอองน้ำความดันสูง (High Pressure Water System) เพื่อดักจับฝุ่นละอองฝุ่น PM2.5 จำนวน 8 แห่ง ช่วงเวลา 18.00 – 23.00 น. ภายหลังปิดระบบจะดำเนินการกวาดพื้นถนน (Street Sweeping) และฉีดล้าง (Street Washing) ได้แก่ บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 1 (มุ่งหน้าบางพลี) บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 2 (มุ่งหน้าบางปะอิน) บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝั่งประตูวิภาวดีรังสิต (บริเวณสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์) บริเวณโรงเรียนหอวัง ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต (บริเวณสะพานลอย หน้าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) กม. 8+400 (บริเวณสะพานลอยหน้าตลาดมารวย) บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) กม. 11+240 (บริเวณสะพานลอยทางเข้าถนนบางกระดี่) บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางลาดกระบัง บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ขาเข้า) และบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางลาดกระบัง บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ขาออก)
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมดำเนินการขยายการติดตั้งระบบปล่อยฝอยละอองน้ำความดันสูง(High Pressure Water System) เพื่อดักจับละอองฝุ่น PM2.5 จำนวน 7 แห่งได้แก่ บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบางปะกง Type A บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางหนองขาม 1 บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางหนองขาม 3 บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 1 (ช่องทางที่ 1-7) บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 2 (ช่องทางที่ 1-7) บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางโป่ง 3 บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางพัทยา (ขาออก) พร้อมจัดทำแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในกรณีการจราจรติดขัดในพื้นที่ก่อสร้างและบริเวณหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง รวมทั้ง บูรณาการร่วมกันระหว่างกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อรณรงค์และกำหนดมาตรการจูงใจให้ผู้ใช้ทางหันมาใช้ M-Pass และ Easy Pass ต่อไป . – สำนักข่าวไทย