กรุงเทพฯ 10 ต.ค. – รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้การบินไทย จัดทำแผนฟื้นฟูบริษัท และแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันและให้รายงานความคืบหน้าการทบทวนแผนการจัดหาเครื่องบินเป็นประจำทุกเดือนจนกว่าแผนจะแล้วเสร็จ หลังบอร์ดการบินไทย มีมติให้ทบทวนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำออกไปก่อน
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจเยี่ยมการทำงานและประชุมร่วมกับผู้บริหารของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) พร้อมเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) มีมติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ให้ทบทวนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำออกไปก่อน 6 เดือนนั้น ล่าสุดตนเองได้มีการพิจารณาแล้ว เห็นว่า มติดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ รายได้และการบริหารจัดการในบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งการบริหารจัดการบริษัท การบินไทย ยังสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนสะสมต่อเนื่องไปอีกในปี 2562 ถึงปี 2563 ดังนั้นตนเองในฐานะที่กำกับดูแลบริษัท การบินไทย จึงขอทราบข้อเท็จจริงและแนวทางบริหารจัดการบริษัท ดังนี้
1.ให้บริษัทจัดทำแผนฟื้นฟูบริษัท และแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ 9 ตุลาคม 2562
2.การจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำ ซึ่งคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้ทบทวนออกไปก่อนและนำเสนอใหม่ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ 24 กันยายน 2562 จึงขอให้ดีดีการบินไทย รายงานความคืบหน้าการทบทวนแผนการจัดหาเครื่องบินเป็นประจำทุกเดือนจนกว่าแผนจะแล้วเสร็จ
3.แผนการบริหารจัดการและโครงสร้างบริษัท เนื่องจากมีผู้บริหารเกษียณอายุราชการหลายตำแหน่ง เช่น รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 3 ตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเข้ามาดำรงตำแหน่งแต่ให้ผู้บริหารที่มีรักษาการในตำแหน่ง อาจจะขัดต่อข้อตกลงขององค์กรการบินระหว่างประเทศ จึงขอให้พิจารณาอย่างละเอียดเพื่อบรรจุผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์เข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าว โดยยึดหลักธรรมาภิบาล
4.แผนการสำรองกระแสเงินสด และสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ให้บริษัท รายงานสภาพปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาพร้อมสภาวะเงินสดให้ทราบเป็นประจำทุกเดือน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
5.ขอให้รายงานความก้าวหน้า เรื่องการลงทุนของบริษัทในศูนย์ซ่อมบำรุง ท่าอากาศยานอู่ตะเภาทุก 15 วัน โดยให้ยึดตามแผนของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก แผนของสภาพัฒน์ และนโยบายของรัฐบาลให้เคร่งครัด
6.ขอทราบแนวทางแก้ไขปัญหาในบริษัทที่ยืดเยื้อไม่เรียบร้อย เช่น การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท Roll&Royce จากกรณีเครื่องบินต้องหยุดบิน จอดรออะไหล่ ทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ,การชำระค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของบริษัท Roll&Royce,การจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้วจำนวน 19 ลำซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการจอดที่สนามบินดอนเมืองวันละ 1 หมื่นบาทต่อลำ และเรื่องอื่นๆเช่น การกำหนดเส้นทางการบิน วิธีการ มาตรการจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ดีดีการบินไทย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากมากสำหรับการบินไทยจากผลการขาดทุนกว่า 2 หมื่นล้านในปีที่ผ่านมา ดังนั้นบริษัท จึงต้องจัดทำแผนฟื้นฟูทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยแผนระยะสั้น คือ การเพิ่มรายได้ เช่นการขายตั๋วเครื่องบินให้ได้มากที่สุด,การควบคุมค่าใช้จ่าย จะมีการหารือกับพนักงานเพื่อลดวันหยุดให้เหลือ 1 วันจาก 2 วัน ในหนึ่งสัปดาห์เพื่อลดค่าแรง ค่าโอที โดยพนักงานทุกคนจะต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนฝ่าวิกฤติไปให้ได้ และการพิจารณาเส้นทางการบินที่ขาดทุน
ส่วนแผนระยะยาว จะต้องมีการเพิ่มเครื่องมือทางการตลาดที่เข้าถึงลูกค้า,การลงทุนในศูนย์ซ่อมและคาร์โก้ รวมทั้งวิเคราะห์เส้นทางการตลาด ฝูงบิน การใช้ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง มาช่วยเรื่องการตลาด เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย