กรุงเทพฯ 7 ต.ค. – “มนัญญา” เผย ผู้แทน 4 ภาคส่วน มีมติยกเลิกสารเคมี 3 อันตราย เสนอให้วันที่ 1 ธ.ค. 62 ต้องหมดไปจากประเทศไทย พร้อมกำหนดสารทดแทน เร่งสรุปเสนอนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์นี้ ด้าน “เฉลิมชัย”เร่งแผนเกษตรยั่งยืน
นายสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจากผู้แทน 4 ภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปในการยกเลิกการใช้สารเคมี พาราควอต ,ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยมีตัวแทนที่เข้าร่วมประชุม เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมควบคุมโรค สมาคมสหพันธุ์องค์กรผู้บริโภค กลุ่มเกษตรอินทรีย์ สมาคมอารักขาพืชไทย ส่วนสมาคมอารักขาพืช ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยมีหนังสือแจ้งที่ประชุมว่า ไม่สามารถร่วมประชุมได้เนื่องจากติดภารกิจต่างประเทศ
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า ได้เปิดโอกาสให้ที่ประชุมแสดงความเห็นอย่างเปิดเผย ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 9 คน เห็นสมควรให้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งปัจจุบันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปรับเป็นชนิดที่ 4 ซึ่งหมายถึงวัตถุอันตรายที่มีความอันตรายหรือมีความเสี่ยงสูง รวมทั้งเสนอให้ยกเลิกใช้ทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 หากยกเลิกได้ จะเป็นผลให้เกิดการห้ามครอบครอง ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต
“หลังจากนี้จะนำมติให้กรรมการทุกคนลงนามรับผลประชุม ก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรี ,รมว.เกษตรและสหกรณ์ ,รมว.สาธารณสุข และ รมว.อุตสาหกรรมภายใน 1-2วัน และเนำเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งเดิมมีกำหนดประชุมวันที่ 27 ตุลาคมนี้ แต่เมื่อคณะทำงาน 4 ฝ่ายมีข้อยุติในวันนี้คาดว่า จะมีการเลื่อนการประชุมชี้ขาดขึ้นมาได้เร็วจากกำหนดเดิม”นายสาวมนัญญากล่าว
นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะลงมติเปิดเผยหรือโดยลับก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการ แต่ในส่วนของผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคมพร้อมเปิดเผยชื่อและความเห็นที่เสนอต่อที่ประชุม ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับสารหรือวิธีการทดแทนครบสมบูรณ์เสนอมาแล้ว โดยมีทั้งการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร การใช้สารชีวพันธุ์ และสารเคมีชนิดอื่นซึ่งเป็นพิษน้อยกว่า แม้ประสิทธิภาพการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชอาจด้อยกว่า แต่ปลอดภัยกว่า แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อสารเคมีที่จะมาทดแทนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางการค้า
“วันนี้เราพบว่า สารเคมี 3 ชนิดนี้เป็นพิษร้ายแรงอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อมจึงควรยกเลิกการใช้ทันที หากในอนาคตพบว่าสารเคมีตัวอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาด มีความเป็นพิษสูงจะเสนอยกเลิกเช่นกัน โดยสารทดแทนที่ใช้ราดหญ้าและฆ่าแมลงอาจจะใช้เวลาเพิ่มสักขึ้นเล็กน้อยกว่าหญ้าและแมลงจะตาย อาจช้าไป 3-5ชั่วโมง แต่ไม่เป็นอันตรายและไม่มีความเป็นพิษสูง เกษตรกรรู้ว่ามี สารอะไรใช้แทนได้และเริ่มใช้กันแล้ว” นางสาวมนัญญากล่าว
นางสาวมนัญญา ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีนายทุนรายใหญ่ที่จะรอนำเข้าสารทดแทนตัวใหม่เข้ามาในประเทศไทย เหมือนที่มีการกล่าวหาว่า”พรรคภูมิใจไทย” เตรียมเปิดทางให้นายทุนของพรรคนำสารเคมีชนิดใหม่เข้ามา อีกทั้งการขออนุญาตนำเข้าไม่ได้ทำได้ในทันทีเพราะต้องมีระยะการพิสูจน์ทางพิษวิทยาและการขออนุญาตที่ทำตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานในสังกัดเร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเร่งด่วนเพื่อรองรับการแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด ดังกล่าว ซึ่งได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงฯ รวบรวมมาให้ได้มากที่สุด และเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ฉบับที่ พ.ศ….ต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรปลอดภัย 3 ล้านกว่าไร่ ซึ่งจะให้ขยายเป็น 5 ล้านไร่ โดยเร็ว พร้อมกันนี้จะยกระดับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้ถึง 570,000ไร่ ปัจจุบันมีอัตราขยายตัวร้อยละ16 ต่อปี เป็นอันดับ 7 ของเอเซีย โดยให้วางเป้าใหม่ต้องขยายตัวร้อยละ 25 ต่อปีเพื่อบรรลุเป้าหมายแรก 1 ล้านไร่ โดยกำลังพิจารณาจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน
“ผมห่วงใยต่อสุขภาพของเกษตรกรไทย แต่จะไม่ยอมให้คนไทยตายผ่อนส่งอีกต่อไปจึงมีแผนเร่งด่วนรองรับนโยบายการแบน3สารพิษ เป็นแผนเกษตรกรรมแบบยั่งยืน จุดเปลี่ยนครั้งนี้สำคัญต่ออนาคตภาคเกษตรและอาหารของประเทศ จะตอบโจทย์ทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวตามแนวทางของท่านนายกรัฐมนตรี” นายเฉลิมชัยกล่าว . – สำนักข่าวไทย