ก.คลัง 30 ก.ย. – มาตรการชิมช้อปใช้ 3 วันแรกมีผู้ใช้สิทธิ์ 370,523 ราย วงเงินใช้จ่ายรวม 294 ล้านบาท ตัดสิทธิ์ร้านค้า 350 แห่ง ย้ำไม่เอื้อนายทุนรายใหญ่ ส่วนใหญ่ผู้ใช้สิทธิ์ซื้อสินค้ารายย่อย ชุมชน แนะห้าง เอกชนบริหารจัดการระบบชำระเงิน เพื่อความสะดวกลูกค้า
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 8 วันแรก มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการชิมช้อปใช้เต็มตามโควตา 1 ล้านรายทุกวัน เฉลี่ยใช้เวลาหลังเที่ยงคืน 3 ชั่วโมง ระบบใช้เวลาตรวจสอบ 3 วันทำการ (ไม่นับวันหยุด) และเมื่อได้รับ SMS แจ้งสิทธิ์และยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” แล้วสามารถใช้สิทธิ์ได้ในวันถัดไป ยอมรับว่าระบบการสมัครยืนยันตัวตนค่อนข้างยุ่งยากซ้ำซ้อน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการสวมสิทธิ์ และหากสแกนใบหน้า 3 ครั้งแล้วยังใช้งานไม่ได้ให้เดินทางไปยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารกรุงไทย
“การใช้งานแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และ “เป๋าตัง” ขอให้เปิด location ทุกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนว่าได้เดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อใช้สิทธิ์ในจังหวัดที่เลือกลงทะเบียน สำหรับผู้ลงทะเบียน เมื่อได้รับ SMS ว่าลงทะเบียนไม่ผ่านสามารถกลับมาลงทะเบียนใหม่อีกรอบได้ เพราะไม่ได้ปิดกั้น เนื่องจากลงทะเบียนตรงกับทะเบียนบ้าน หรือผิดเงื่อนไขที่กำหนด การลงทะเบียนยังไม่สิ้นสุด เพราะการลงทะเบียนแต่ละวัน เมื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติมีผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบ 200,000-300,000 ราย ผู้ไม่ผ่านจึงกลับมาลงทะเบียนได้อีกรอบ” นายลวรณ กล่าว
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 – 26 กันยายน 2562 มีผู้ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์ 3.1 ล้านราย วันที่ 27 -29 กันยายน 2562 รวม 3 วัน มีผู้เริ่มไปใช้สิทธิ์แล้ว 370,523 ราย มียอดการใช้จ่าย 294 ล้านบาท พบว่า ชาวบ้านกว่าร้อยละ 50 ของการใช้จ่าย หรือเป็นเงิน 148 ล้านบาท ได้ใช้จ่ายในร้านประเภท “ช้อป” เป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ รองลงมา คือ ร้าน “ชิม”หรือร้านอาหารและเครื่องดื่ม ยอดใช้จ่าย 60 ล้านบาท ส่วนร้านประเภท “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ และสาขาเกี่ยวข้องกับบริการท่องเที่ยวมียอดใช้จ่าย 7 ล้านบาท
ส่วนการซื้อสินค้าในร้านค้าทั่วไป หรือห้างสรรพสินค้า มียอดใช้จ่าย 79 ล้านบาท จึงถือว่าการใช้เงินสำหรับชิมช้อปใช้ส่วนใหญ่กระจายไปยังร้านค้ารายย่อย เนื่องจากกำหนดให้ชำระเงินด้วยแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” กระเป๋า 1 วงเงิน 1,000 บาทจากรัฐบาล ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีของร้านค้าไม่เกินเวลา 21.00 น. ของวันทำการถัดไป ส่วนกระเป๋า ช่อง 2 เป็นจำนวนเงินประชาชนเติมเข้ามาเอง โอนเข้าบัญชีของร้านค้าในวันถัดไปไม่เกินเวลา 06.30 น. ของทุกวัน
โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า ระบบการชำระเงินระหว่าง “ถุงเงิน” และ “เป๋าตัง” สามารถใช้งานได้ปกติ ไม่มีปัญหาระบบล่มตามที่ปรากฏเป็นข่าวในโซเชียล เพราะระบบยังให้บริการได้ตามปกติ แต่ปัญหาการต่อคิวยาวเพื่อชำระเงินในห้างสรรพสินค้ากำหนดเงื่อนไขการลงทะเบียนร้านค้า “ถุงเงิน” 1 ร้านค้า หรือบริษัท ห้างสรรพสินค้า 1 แห่ง เลือกพื้นที่บริการชำระเงินรวมกัน 20 จุด ภายใน 1 จังหวัด และเลือกได้เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น แต่หากร้านเอกชนเลือกจุดขายสินค้า ทั้ง 20 สาขา จึงมีจุดชำระเงินได้เพียง 1 จุด จึงมีปัญหาการชำระเงินต่อแถวยาว ห้างสรรพสินค้าหรือร้านเอกชนขนาดใหญ่ จึงต้องบริหารจัดการรองรับการชำระเงินของลูกค้าให้สะดวกมากที่สุด
นายลวรณ กล่าวว่า เจตนาของรัฐบาลต้องการอำนวยความสะดวกให้ร้านกลุ่ม “ชิมช้อปใช้” เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังเศรษฐกิจฐานรากให้ได้มากที่สุด สำหรับร้านค้าขนาดใหญ่ควรลดจำนวนสาขาร่วมโครงการและปรับเพิ่มจุดรับชำระเงินให้เพียงพอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ เพราะสามารถปรับเปลี่ยนได้ ส่วนร้านอาหารใน จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยเข้าไปทำความเข้าใจแล้ว คาดว่าคงตัดสินใจร่วมโครงการเหมือนเดิม หลังจากเข้าใจคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตัดสิทธิ์ร้านค้าที่ขายสินค้าผิดวัตถุประสงค์ หรือรับแลกเงินสด 350 ร้านค้า จึงขอความร่วมมือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะประชาชนกำลังโหลดแอปเป๋าตัง เพื่อออกไปใช้จ่ายเงิน นับเป็นการเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าเพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย