กรุงเทพฯ 30 ก.ย. – ธปท.พร้อมพัฒนาระบบการเงินไทยแข่งขันอย่างยั่งยืน และดูแลผู้บริโภคได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดบนเวที BOT Symposium 2019: พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน Competitive Thailand ว่า กุญแจสำคัญตัวหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจให้ก้าวข้ามขีดจำกัดของทรัพยากร ขีดจำกัดทางเทคโนโลยี และผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า คือ “การแข่งขัน” ซึ่งเป็นประเด็นหลักของงานสัมมนาวิชาการของ ธปท.ปีนี้ โดยการแข่งขันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การแข่งขันผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องพัฒนาความสามารถให้สูงขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น ซึ่งการแข่งขันที่ดีจะต้องเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้างเป็นธรรม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวม
ขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดและกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบันกำลังทำให้ภูมิทัศน์ของการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เกิดความท้าทายมิติใหม่ ๆ ที่ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นด้านหนึ่งนั้น เทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริมการแข่งขัน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เกิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ธุรกิจหลายประเภทต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยความท้าทายสำคัญที่กำลังเผชิญ คือ จะส่งเสริมการแข่งขันที่เปิดกว้างเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการยกระดับผลิตภาพอย่างต่อเนื่องในอนาคตไปพร้อมกับการดูแลให้ผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจกระจายอย่างทั่วถึงได้อย่างไร ในยุคที่โลกไร้พรมแดนและเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมและออกแบบการแข่งขันที่จะทำให้ผลิตภาพและศักยภาพของประเทศพัฒนาได้ต่อเนื่องมีอย่างน้อย 4 บทบาท คือ บทบาทแรก การสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) เอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้างและเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งขันและเติบโตในธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายเดิมเป็นเจ้าตลาดได้ บทบาทที่ 2 การช่วยเหลือของภาครัฐให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถแข่งขันได้ในโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บทบาทที่ 3 กฎระเบียบภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่น สอดรับกับสภาวะแวดล้อมและรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีต้นทุนต่อหน่วยของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หลายอย่างสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และบทบาทที่ 4 การแข่งขันจะต้องไม่นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม กำไรที่เพิ่มขึ้นต้องมาจากการเพิ่มผลิตภาพ ไม่ใช่มาจากการผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคหรือมาจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อสร้างอำนาจผูกขาด
สำหรับภาคการเงินเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่นวัตกรรมและการแข่งขันเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจไปจากเดิมหลายด้าน นอกจากเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนและสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ แล้ว เทคโนโลยียังช่วยสร้าง platform เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่จากทั้งในและนอกภาคการเงิน จากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจทางการเงินได้ง่ายขึ้นด้วย
นายวิรไท กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมาเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบการชำระเงินของประเทศอย่างก้าวกระโดด ทั้งผ่านระบบพร้อมเพย์และการใช้ Thai Standard QR Code หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่แท้จริงแล้วการออกแบบระบบนิเวศและโครงสร้างการแข่งขันเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ทั้ง 2 โครงการถูกออกแบบโดยยึดหลัก interoperability เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการชำระเงินหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรฐานกลางและโครงสร้างพื้นฐานกลางที่เชื่อมโยงกันได้สะดวก ไม่แบ่งแยกเป็นวง ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาก เกิดนวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเป็นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ การยกเลิกโครงสร้างค่าธรรมเนียมแบบเดิมที่แบ่งรายได้ระหว่างสถาบันการเงินต้นทางกับสถาบันการเงินปลายทาง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการแข่งขันนำไปสู่การแข่งขันกันลดค่าธรรมเนียมการบริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย การมีระบบการชำระเงินที่เปิดกว้างยังทำให้ข้อมูลการชำระเงินรายธุรกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของโลกการเงินดิจิทัลอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่มาตรฐานของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งที่จะมีอำนาจเหนือตลาดได้ในอนาคตอีกด้วย โดยการแข่งขันที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนและธุรกิจขนาดย่อมได้รับความสะดวกในการชำระเงินมากขึ้น สามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และเชื่อมต่อกับ online platform ต่าง ๆ ได้ง่าย ขยายโอกาสในการทำธุรกิจไปได้ทั่วประเทศและทั่วโลก สถาบันการเงินแม้ว่าจะสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมไปมาก ก็สามารถลดต้นทุนการบริหารเงินสดและการให้บริการผ่านสาขา และยังสามารถนำข้อมูลที่เกิดขึ้นไปบริหารความเสี่ยงและต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้นด้วย
นอกจากการพัฒนาระบบการชำระเงินแล้ว ธปท.ให้ความสำคัญกับการดูแลให้ผู้บริโภคที่มีอำนาจต่อรองต่ำกว่าสถาบันการเงิน ได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม ไม่ถูกหลอกลวง บังคับ หรือเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ ผลักดันให้สถาบันการเงินต้องยกระดับมาตรฐานด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม หรือ market conduct อย่างจริงจัง ซึ่งบทบาทดังกล่าวรวมถึงการกำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูล เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สร้างระบบที่ประชาชนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเงื่อนไขผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ได้ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลสถิติเหตุการณ์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ขัดข้อง (downtime) รายสถาบันการเงิน และเปิดเผยข้อมูลสถาบันการเงินที่ถูกปรับจากการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ market conduct ด้วย เพื่อให้การแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินมีความพอดี ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดนั้นจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพของประเทศให้สูงขึ้น การแข่งขันที่เหมาะสม เปิดกว้าง และเป็นธรรม เป็นกุญแจสำคัญที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างยั่งยืน การแข่งขันที่เป็นธรรมยังจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ถ้าปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะด้านโอกาสในการแข่งขันไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะยาวด้วย . – สำนักข่าวไทย