กรุงเทพฯ 26 ก.ย. – คณะกรรมการประชารัฐฯ เคาะ 4 มาตรการเพิ่มเติมต่อเนื่อง ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในมาตรการเพิ่มเติมที่จะดำเนินการต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว คือ
1.ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เดือนละ 230 บาทต่อครัวเรือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562- กันยายน 2563 ระยะเวลา 11 เดือน ใช้งบประมาณ 1,470 ล้านบาท
2.ช่วยเหลือค่าน้ำประปา เดือนละ 100 บาทต่อครัวเรือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562- กันยายน 2563 ระยะเวลา 11 เดือน ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท
3.คืนภาษี VAT จาก 7% จะคืนให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5% โดยรัฐจะเก็บภาษี VAT จากผู้มีรายได้น้อยเพียง 2% ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562-กันยายน 2563 ระยะเวลา 10 เดือน ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป้าหมายของมาตรการ คือ การช่วยเหลือเพิ่มเติมผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด 14.6 ล้านคน เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาลดภาระค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณประมาณ 1,870 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการของกระทรวงพลังงาน โดย ปตท.ในเรื่องการช่วยเหลือภาระค่าก๊าซหุงต้ม ครัวเรือนละ 100 บาท จำนวน 100,000 ครัวเรือน โดยแบ่งเป็นในส่วนของผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 88,000 ครัวเรือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2562 ระยะเวลา 3 เดือน คาดว่าใช้งบประมาณ 37 ล้านบาท
สำหรับมาตรการเพิ่มเติมดังกล่าว คณะกรรมการได้มีการประเมินผลจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าเป็นประโยชน์และส่งผลดีต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ
“สำหรับมาตรการที่ออกมานั้น รัฐบาลต้องการช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดมาตรการอีกด้าน คือ มาตรการสร้างอาชีพ ทักษะ และองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาจากฐานราก ทำให้นโยบายสำหรับผู้มีรายได้น้อยมีองค์ประกอบที่ครบวงจร โดยรัฐบาลไม่ได้แค่ช่วยเหลือด้านเงินสนับสนุนเท่านั้น แต่จะช่วยเติมเต็มด้านการพัฒนาตนเอง เพื่อให้เขาสามารถประกอบอาชีพ เสริมความแกร่งให้เขายืนได้ด้วยตนเอง” นายอุตตม กล่าว.-สำนักข่าวไทย