มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 26 ก.ย.-“ปริญญา” เปิดผลวิจัย ชี้ปัญหาเลือกตั้ง 62 อยู่ที่ระบบจัดสรรปันส่วนผสม แนะแก้ที่ตัวกฎหมายลูกง่ายกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำวิจัย เรื่องปัญหาของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 และปัญหาการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยเก็บข้อมูลวันเลือกตั้งจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเสร็จแล้ว 3,250 คน ใน 4 ภาค 20 จังหวัด และเก็บข้อมูลจากผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 73 คนจาก 40 พรรคการเมือง รวมถึงสอบถามกับผู้ปฏิบัติงานสำนักงาน กกต. จังหวัด , สำนักงาน กกต.เขต , กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง สัมภาษณ์เชิงลึกผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ 5 พรรคการเมือง จึงแยกสรุปวิเคราะห์ผลการศึกษาเป็น 5 เรื่องที่ต้องนำไปแก้ไข
โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาแรก คือ ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการเลือกตั้งแบบ 2 ใบ และเป็นปัญหาที่วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91 ที่สามารถตีความว่ามีมากกว่า 1 วิธี จนเกิดข้อถกเถียง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อ กกต. และที่ยุ่งยากไปกว่านั้น คือ การใช้คะแนนแบบแบ่งเขต กำหนด ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเลือกตั้งซ่อม เช่น กรณีการเลือกตั้งซ่อม เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทรักธรรมเป็น ส.ส.ได้เพียง 3 วัน จุดนี้อาจทำให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เห็นปัญหาอยู่บ้าง จึงกำหนดให้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมทำแค่ช่วง 1 ปีแรก
นายปริญญา กล่าวอีกว่า ขณะที่ประชาชนไม่สามารถเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อแต่ละพรรคได้ หากเขตที่มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคที่ชอบไม่ส่งผู้สมัครในเขตนั้น ส่วนผู้ที่ตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งส่วนมากจะตัดสินใจเลือกพรรค แม้ไม่ชอบผู้สมัครแบบแบ่งเขต และยังพบเรื่องปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองระหว่างผู้สมัครแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เพราะผู้สมัครแบบแบ่งเขตจะต้องลงพื้นที่หนัก ส่วนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่ออยากได้คะแนนจากเขตมาก เพราะมีผลต่อการคำนวณบัญชีรายชื่อ โดยพบว่า พรรคอนาคตใหม่มีปัญหานี้มากที่สุด เพราะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุดและมากกว่า ส.ส.เขต แต่พรรคที่ไม่มีปัญหานี้คือพรรคเพื่อไทย
นายปริญญา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้จำนวนผู้สมัคร ส.ส.เขตที่มากเกินไป ก็มีปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง เพราะระบบการเลือกตั้งที่นำคะแนนแบบแบ่งเขตมาคำนวณ ทำให้พรรคการเมืองที่มีทุนมากพอ จะส่งผู้สมัครมากที่สุด หรือส่งทุกเขตเลือกตั้ง ส่งผลให้จำนวนผู้สมัครแบบแบ่งเขตในการเลือกตั้งปี 2562 เพิ่มขึ้น 4.5 เท่า จากปี 2554 รวมถึงยังพบปัญหาเรื่องหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขตพรรคเดียวกัน แต่ต่างกันและยังพบว่าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีพรรคการเมืองขนาดเล็กเกิดขึ้นมากเกินไป ส่งผลให้ปัญหาการซื้อเสียงกลับมา ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีการใช้เงินมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะทุกคะแนนมีความหมาย การออกแบบของ กรธ.ที่ต้องการให้การเลือกตั้งลดการซื้อเสียง กลับได้ผลตรงกันข้าม ซึ่งรูปแบบพฤติกรรมการซื้อเสียงเปลี่ยนไป เช่น หัวคะแนนทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมรายชื่อไปขอเงิน อยู่ที่หัวละ 700-1,000 บาท และหลายพื้นที่หัวคะแนนมีการหักเงินไว้ 100-200 บาท
นายปริญญา กล่าววอีกว่า ปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้ง พบมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และระเบียบหลายฉบับของ กกต. เช่น บัตรเลือกตั้ง ที่สร้างความสับสน ตัวหนังสือเล็กลง จากผู้สมัครแบบแบ่งเขตที่มีมากกว่า 4 เท่า และช่องกากบาทลงคะแนนอยู่ห่างจากหมายเลข ทำให้ลงคะแนนผิดช่องที่เป็นเครื่องหมายพรรค ส่งผลให้มีบัตรเสีย เช่นเดียวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ทำให้เกิดปัญหาหลายพื้นที่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความไม่สะดวก ส.ส.เก่าไม่มีฐานเสียง ขณะที่ปัญหาการขยายเวลาการปิดหีบบัตรเลือกตั้ง ทำให้การนับคะแนนต้องขยับเวลาออกไป ในพื้นที่กันดารจะมีปัญหามาก เป็นต้น
นายปริญญา ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนวทางแก้ไขในการจัดการเลือกตั้ง 2562 ว่า เมื่อสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา คือ ระบบการเลือกตั้ง ควรต้องมีการแก้ไข ส่วนจะแก้ไปสู่ระบบใด เช่น ใช้ระบบเดิม มีบัตร 2 ใบ หรือ ระบบเยอรมัน ก็ต้องไปพิจารณา พร้อมเห็นว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้พรรคการเมืองเป็นหมายเลขเดียวกัน ควรให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดอย่างเดียว ปรับให้มีบัตรเสียน้อยลง เวลาปิดหน่วยเลือกตั้งควรกลับมาที่เวลา 15.00 น. ไม่ควรเกิน 16.00 น. เปลี่ยนผู้ตรวจการเลือกตั้งไปเป็น กกต.จังหวัด โดยให้มีแค่ช่วงเลือกตั้ง รวมถึงยกเลิกระเบียบหยุมหยิมยิบย่อยของ กกต.ที่เป็นอุปสรรคทั้งหลาย ทั้งนี้เห็นว่า การจะแก้ไขระบบเลือกตั้ง หากจะใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญ คงเป็นเรื่องยาก เพราะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่มีท่าทีเรื่องนี้ แต่มีความเป็นไปได้หากจะแก้ที่ พ.ร.บ.หรือระเบียบจะง่ายกว่า
“การเลือกตั้งปี 62 มีปัญหามากที่สุด ผลมาจากระบบเลือกตั้ง ใช้คะแนน ส.ส.เขต มาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำเป็นต้องปรับปรุงเรื่องบัตรเลือกตั้งใหม่ 350 เขตไม่เหมือนกันเลย ผู้ใช้สิทธิต้องใช้เวลารอนานในการเลือกตั้งล่วงหน้า เกิดการผิดพลาดในการส่งบัตรให้ผู้ใช้สิทธิไม่ตรงกับเขตของตัวเอง กลายเป็นบัตรเสียจำนวนไม่น้อย และต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เหล่านี้ควรแก้ไขก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป” นายปริญญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย