กรุงเทพฯ 9 พ.ค.-“ปริญญา” จี้กกต.แก้ระเบียบเปิดช่องให้สว.แนะนำตัวได้ หวั่นได้คนจัดตั้ง -บ้านใหญ่แทนสว.ที่มีความเป็นอิสระจริง แนะเปิดให้สื่อ-ปชช. ร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งกันข้อร้องเรียน ทำประกาศผลช้า ส่อสว.เก่ารักษาการยาว
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ชุดใหม่ว่า ครั้งนี้ถือว่าซับซ้อนที่สุดในโลกและไม่แน่ใจว่าจะบรรลุเป้าหมายการได้ผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะมีความซับซ้อนตั้งแต่ตัวระบบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังออกกฎระเบียบที่ห้ามการแนะนำตัว ยิ่งจะเป็นการสร้างปัญหา ซึ่งหากยังไม่ได้สว.ชุดใหม่ สว.ชุดเดิมจะรักษากันไปจนกว่าจะได้ชุดใหม่เข้ามา
“กกต.ระบุชัดเจนว่าจะประกาศสว.ชุดใหม่ภายในวันที่ 2 กรกฎาคม แต่ปัญหาคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้ผู้สมัครทุกคนมีสิทธิ์ร้องคัดค้านได้ หากเห็นว่าการเลือกไม่ชอบมาพากล โดยหากมีผู้สมัครเป็นแสนคน ซึ่งแตกต่างจากสส. ที่สมัครแค่ 6,000 กว่าคน หากมีการคัดค้าน จะทำให้การเลือกสว.ประกาศผลตามที่วางไว้หรือไม่ ผมจึงเห็นว่ากกต.ควรจะแก้ไขระเบียบและประกาศใช้พร้อมกับพระราชกฤษฎีกาที่ยังไม่ได้ออกมา” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวว่า การเลือกข้ามกลุ่มอาชีพ ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศจะรู้จักกันได้อย่างไร หากห้ามแนะนำตัว เมื่อขั้นตอนเป็นเช่นนี้คนที่ได้รับเลือกคงเป็นคนที่จัดตั้งมา มีการระดมคนหรือมีบ้านใหญ่ รวมถึงมีเครือข่าย ส่วนผู้สมัครอิสระที่ไม่รู้จักใครหรือมีพวกพ้องจะลำบากมาก ยิ่งจำกัดการแนะนำตัวมากเท่าใด คนที่ไม่ต้องแนะนำตัวมีโอกาสได้เป็นมากขึ้นเท่านั้น การเลือกสว.คือการเลือกผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่ได้เป็นการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่สำนักงานหรือบริษัทของใคร จึงควรทำให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในระดับที่เหมาะสม เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดแล้วว่าถ้าใครต้องการเลือกสว.ต้องสมัครสว. พร้อมค่าสมัคร 2,500 บาท ประเด็นนี้เท่ากับเป็นการกันคนส่วนใหญ่ออกไป
“การที่กกต.มีท่าทีว่าคนที่มาชักชวนให้สมัครส.ว.ผิดกฎหมาย เรื่องนี้ผมมองว่าไม่จริง เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการจูงใจให้เลือก สว.จับผิดก็ต่อเมื่อให้ผลประโยชน์ หรือให้ทรัพย์สินตอบแทนเพื่อจูงใจ ดังนั้น ถ้าไม่ได้จงใจด้วยทรัพย์สินตอบแทนถือว่าไม่มีความผิด ในทางกลับกันมองว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำถ้าประชาชนเป็นผู้สมัครอิสระจำนวนมาก จะทำให้ได้สว.ที่เป็นผู้แทนอิสระ และเป็นตัวแทนประชาชนชาวไทยมากขึ้น” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวว่า ยังไม่เห็นช่องให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์เนื่องจากกกต.ยังไม่ประกาศ แต่ตามกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชน ดังนั้น กกต.ควรอนุญาตให้สื่อมวลชนและประชาชนเป็นผู้สังเกตการณ์ เพื่อให้การเลือกสว.มีปัญหาน้อยสุด มีความโปร่งใส สาธารณชนตรวจสอบได้ ตั้งแต่ในระดับอำเภอจนถึงระดับประเทศ เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากไม่โปร่งใส ข้อร้องเรียนก็จะมาก และจะประกาศผลในวันที่ 2 กรกฎาคมไม่ได้ สว.ชุดนี้ก็จะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ไม่ได้รังเกียจสว.ชุดนี้ แต่เมื่อหมดวาระก็ต้องพ้นหน้าที่และให้ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่
“ยิ่งจำกัดการแนะนำตัวให้ยากเท่าไหร่ คนที่ไม่ต้องแนะนำตัวก็ได้เป็นและจะมีโอกาสมากเท่านั้น แม้จะมีบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าห้ามให้ทรัพย์สินจูงใจ จึงตั้งคำถามว่าแล้วกกต.จะไปตรวจสอบอย่างไรหรือควบคุมอย่างไรถ้าเขามีการชักชวนกันและให้ประโยชน์กัน อันนี้ถือว่าเป็นปัญหามาก ยิ่งจำกัดการแนะนำคนทั่วไปหรือผู้สมัครอิสระก็มีโอกาสน้อย เช่น ในรอบแรกทุกคนมี 2 คะแนน หนึ่งคะแนนเลือกตนเองอีกหนึ่งคะแนนเลือกคนอื่น แต่อาจจะมีคนเลือกคนอื่นสองคะแนนตั้งแต่รอบแรกเพราะไม่มีข้อห้าม” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวว่า การออกระเบียบของกกต. ไม่ได้ฟังใครหรือถามใคร จึงจำเป็นต้องประชุมกกต.เพื่อออกระเบียบใหม่ได้ ข้อไหนที่สังคมทักท้วงก็ปรับแก้และประกาศพร้อมกับพระราชกฤษฎีกาให้เลือกสมาชิกวุฒิสภาได้เลย โดยเฉพาะระเบียบการแนะนำตัวด้วยเอกสารในวันเลือก เพราะคนที่สมัครการจะรู้จักกันข้ามกลุ่มอำเภอข้ามกลุ่มอาชีพได้อย่างไรดังนั้นกกต. จึงต้องหาวิธีการเพื่อให้ได้รู้จักกัน สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ถือว่ามีอิทธิพลต่อการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพราะที่ผ่านมามีการตั้งคำถามว่าองค์กรอิสระมีความเป็นอิสระจริงแค่ไหน “ผลงานของสว.ชุดนี้ที่จะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าผลงานนั้นเข้าเป้าของคสช. เพราะคสช. เป็นคนเลือกเข้ามาแต่ในแง่ของประชาชนอาจจะตั้งคำถามขึ้นมามากหน่อย เพราะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน โดยการเลือกสว.ที่ผ่านมาในฝ่ายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะต้องเป็นคนให้คะแนนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. -312.-สำนักข่าวไทย