เชียงใหม่ 25 ก.ย. – หลังจากกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงนามร่วมปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม ขั้นตอนการปลูกรูปร่างหน้าตาของโรงเรือนในการปลูก เพื่อให้สารสำคัญทางการแพทย์ ทั้ง THC และ CBD รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามได้จากรายงาน
บนเนื้อที่ 3,040 ตารางเมตร ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดสร้างโรงเรือนทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ใช้เพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ สายพันธุ์อิสระ 01 ขั้นตอนการปลูกจุดสำคัญคือ การปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ดิน แต่ใช้เป็นวัสดุเพาะกล้าและวัสดุปลูก ดังนั้นจึงต้องพิถีพิถัน นำสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรมาหมักรวมกันนับปี ทั้งกากมะพร้าว มูลสัตว์ และฉี่ไส้เดือน ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ส่งผลให้การเพาะเมล็ดกัญชาเติบโตเป็นต้นกล้าได้ผลดีถึงร้อยละ 97 ผ่านขั้นตอนช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้อย่างง่ายดาย
เมื่อต้นกัญชาขนาด 14 วัน เติบโต จะนำมาเข้าสู่กระบวนการเพาะปลูกที่โรงเรือนขนาดใหญ่ หรือสมาร์ทฟาร์ม ที่มีระบบควบคุมสภาพอากาศให้เหมาะสม ป้องกันแมลง เชื้อรา ไม่ใช้เคมี เพราะกัญชาต้องการแดด น้ำ แต่ไม่ชื้นจนเกินไป และมีท่อจ่ายสารอาหารลงวัสดุเพาะปลูกโดยเฉพาะ แต่เทคนิคสำคัญของการปลูก ต้องทำให้ต้นกัญชามีความเครียด เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเพื่อสร้างสารสำคัญ ทั้ง THC และ CBD อย่างสมดุล
อีก 5 เดือนข้างหน้า ต้นกัญชา 12,000 ต้นเหล่านี้ จะถูกนำมาแปรรูปเป็นสารสกัด จำนวน 1 ล้านขวด ขวดละ 5 ซีซี เพื่อใช้เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนการปลูกบ้านละ 6 ต้น ยังต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน ควบคู่กับพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสม. – สำนักข่าวไทย