รัฐสภา 18 ก.ย.-“วิษณุ” แจงแทนนายกฯ ยืนยัน กระดาษแข็งที่อ่านคำปฏิญาณเป็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่มีการสลับ ย้ำไม่มีปัญหาภายหลังเพราะ เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญย้ำชัดการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่าง รัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เมื่อเวลา 17.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ว่า เจตนาของมาตรา152 ต้องการให้ ส.ส. สอบถามและเสนอแนะ ซึ่ง การอภิปรายในวันนี้เป็นไป ตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ และประเด็นที่พูดกันคือการถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรี จึงเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยเมื่อเริ่มเวลาเสด็จออกแล้ว นายกรัฐมนตรีก็เปิดกรวยดอกไม้ถวายบังคม และเริ่มคำปฏิญาณด้วยการหยิบกระดาษแข็ง ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้จัดเตรียมไว้ให้ ไม่ได้เปลี่ยน ไม่ได้สลับ เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาในอดีต
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ไม่หยิบกระดาษแข็ง เพราะจำได้ทุกถ้อยคำคือนายชวน หลีกภัย และเมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวทีละท่อนทุกคนก็กล่าวตาม ตน จะไม่ขอเรียนว่าถ้อยคำที่นายกรัฐมนตรีกล่าวมีถ้อยคำอย่างไร และไม่ทราบถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่ยืนยันว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ คำนี้ไม่ได้พูดขึ้นเอง แต่ในหนังสือที่บอกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา หน้า195 ได้ระบุไว้
“เราเข้าใจตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น และจะว่าผิดคงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ได้เขียนเอาไว้ในคำวินิจฉัยอย่างน้อยก็ฉบับย่อหน้าที่สอง บรรทัดที่สาม ศาลใช้คำว่า ดังนั้นการถวายสัตย์ปฏิญาณจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ ผมถึงสรุปว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นเรื่องระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ ผมพูดอย่างนี้อาจจะมีคนนึกอยู่ในใจว่าทำไมบังอาจถึงไม่เขียนตามรัฐธรรมนูญ ในอดีต ใช้คำว่าปฏิญาณสาบานตน แต่ปัจจุบันใช้แยกเป็นสองคำ คือถวายสัตย์ปฏิญาณ และปฏิญาณตน ซึ่งแตกต่างกัน การถวายสัตย์ปฏิญาณจะต้องทำต่อหน้าพระพักตร์ เท่านั้น แต่การปฏิญาณตนจะทำที่ไหนก็ได้ ดังนั้น หลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ จะมีพระราชดำรัสต่อทุกครั้ง การถวายสัตย์ปฏิญาณ มีบุคคลสี่ประเภทเท่านั้นที่จะทำคือ องคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา และตุลาการ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาใดตามมาอย่างแน่นอน เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องทั้งหมด และมีคำอธิบายประกอบว่าเพราะเป็นเรื่องทางการเมือง และไม่อยู่ในอำนาจในการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีการชี้ว่าจะเจอมาตรฐานทางจริยธรรมนั้น ตนเห็นว่าไม่เป็นอะไร หากเจอก็ต้องไปกันหมด แต่เรื่องนี้ก็ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติที่เอามากล่าวอ้าง ดังนั้น รัฐบาลมีหน้าที่เดียวคือก้มหน้าก้มตาทำงาน ตามที่ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อไป.-สำนักข่าวไทย