กรุงเทพฯ 18 ก.ย. – จับตาอัยการ ส่งเรื่องอุทธรณ์คดีค่าโง่โฮปเวลล์ให้ศาลปกครองสูงสุดวันนี้ หลังคมนาคมและการรถไฟฯ ประสานข้อมูลส่งให้แล้ว โดยพุ่งเป้าต่อสู้ประเด็นการทุจริตในการอนุมัติโครงการในอดีต
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า หลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจสอบและเห็นชอบประเด็นการต่อสู้คดี ค่าโง่โฮปเวลล์ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้ว และมีประเด็นที่จะใช้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ส่งให้กับอัยการไปเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา โดยรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่าทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งกลับมาว่า จะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฯในวันนี้
โดยการยื่นอุทธรณ์อีกครั้งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการต่อสู้คดีค่าโง่โฮปเวลล์จนถึงที่สุด และได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบปัญหาการทุจริตในโครงการ ตั้งแต่การเซ็นสัญญา ในช่วงต้นของโครงการเมื่อปี 2533 ซึ่งพบพิรุธในการเซ็นสัญญามากมาย เช่น ประเด็นที่โครงการโฮปเวลล์มีมูลค่าสูงจะพบรายละเอียดสัญญามีเพียงไม่กี่หน้า การกำกับโครงการระหว่างการก่อสร้างซึ่งท้ายที่สุดพบว่างานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่ไม่มีการกำกับดูแลให้งานก่อสร้างคืบหน้าสอดคล้องกับเม็ดเงิน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งให้มีการตรวจสอบปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งการเมืองและข้าราชการประจำ จนถึงเอกชน เพื่อนำมาต่อสู้คดีอุทธรณ์ในศาลฯอีกครั้ง
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของการตรวจสอบการทุจริต และขัดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงนามในสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับโฮปเวลล์ ในอดีต นอกจากประเด็นการทุจริตซึ่งขณะนี้ภาครัฐยังไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลต่อรูปคดี แต่ก็ยังประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายกฎหมาย(อนาบาล) ของรฟท . ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำกับการก่อสร้างในสัญญาของโครงการ ว่ามีการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่บังคับใช้ในขณะนั้นหรือไม่ เนื่องจากสัญญาที่มีการลงนาม 2 ฝ่าย ไม่มีการระบุถึงวิธีปฏิบัติที่จะควบคุมให้งานก่อสร้างคืบหน้าสอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการ ซึ่งประเด็นนี้หากสัญญาขาดสาระสำคัญดังกล่าว จะนำไปสู่การตรวจสอบว่าสัญญาเป็นโมฆะตั้งแต่ต้นหรือไม่ และหน่วยงานที่กำกับดูแล ทั้งฝ่ายนโยบายและประจำ ละเลยไม่ดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามพ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ที่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตและละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบในประเด็นเหล่านี้ด้วย . – สำนักข่าวไทย