กรุงเทพฯ 18 ก.ย. – รมช. ประภัตรสั่งกรมปศุสัตว์เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตามแนวชายแดนระดับสูงสุด โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย เนื่องจากที่เมียนมาระบาดหนัก ประสานผู้ว่าตั้งด่านห้ามเคลื่อนย้ายสุกรเข้า-ออกทุกอำเภอ ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุ กรณีพบสุกรป่วย ให้เจ้าหน้าที่ทำลายและฝังกลบ ตามแผนเฝ้าระวังที่เป็นวาระแห่งชาติ
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการที่เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ประเทศเมียนมา ใกล้ชายแดนไทยจึงสั่งการให้กรมปศุสัตว์ยกระดับการเฝ้าระวังเป็นระดับสูงสุด ทั้งนี้ยังได้ขอความร่วมมือจากนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพิ่มการตั้งด่านกักกันสัตว์ให้มากขึ้นตลอดแนวชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเพิ่มเจ้าหน้าที่ทุกจุด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมสนับสนุนเครื่องมือในการตรวจโรคเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบริเวณชายแดนเคร่งครัดการในการตรวจยึดผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่นักท่องเที่ยวนำติดตัวเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทราบถึงมาตรการการควบคุม ป้องกันโรคของประเทศไทย สั่งการให้กรมปศุสัตว์สร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกร เพื่อยกระดับการเลี้ยงของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนดได้แก่ มาตรฐานตามระบบ GFM หรือระบบ GAP และขอความร่วมมือให้เกษตรกรในการแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์หากพบสุกรมีอาการป่วยตายผิดปกติ
“ไทยดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนจึงต้องประกาศห้ามนำหมูข้ามเขต ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายตั้งด่านสกัดเป็นร้อยด่าน รวมทั้งขอความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประสานผู้ประกอบการค้าไม่ให้เคลื่อนย้ายหมูและขอให้ช่วยรับซื้อหมูที่เชือดได้แล้วมาชำแหละเพื่อลดจำนวนหมูในพื้นที่ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงการระบาดของโรค” นายประภัตรกล่าว
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้สั่งการปศุสัตว์ทุกจังหวัดให้เฝ้าระวังโรค ASF อย่างเข้มข้นขึ้นเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมามีการระบาด จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรทุกพื้นที่ หากมีสุกรป่วยให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะรับซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่เสี่ยงและในรัศมีใกล้เคียง เพื่อนำไปทำลายและฝังกลบ โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสนับสนุนค่าชดเชยซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรคตามปกติ หากสุกรที่เลี้ยงไว้ป่วยให้แจ้งปศุสัตว์อาสา กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อเร่งรายงานมายังปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัดให้เข้าไปควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว และขอย้ำว่า ASF ไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ดังนั้นผู้บริโภคไม่ต้องกังวล สามารถบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติ
ทั้งนี้ได้รับรายงานจากนายนพพร มหากันธา ปศุสัตว์จังหวัดเชียงรายว่า จากการตรวจพบสุกรในบางฟาร์มป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะเพียงไม่กี่ตัว แต่ตามแผนเฝ้าระวังโรค ASF ต้องทำลายซึ่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ฉีดยากำจัดไปแล้วรวมแล้วกว่า 200 ตัว จากนั้นนำไปฝังกลบ พร้อมกันนี้ได้เก็บชิ้นเนื้อตัวอย่างส่งไปตรวจพิสูจน์หาสาเหตุที่ศูนย์ วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จังหวัดลำปาง ใช้เวลา 14 วันจึงจะทราบผล ทั้งนี้สุกรไม่ได้ป่วยตาย 200 กว่าตัวตามที่เป็นข่าว แต่การทำลายสัตว์ในรัศมี 5 กิโลเมตรที่พบสัตว์ป่วยเป็นมาตรฐานการป้องกันการระบาดโรคสัตว์ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ออกให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรแบบเคาะประตูบ้าน โดยแนะนำว่า เมื่อพบสัตว์ป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีและไม่ให้มีนำสัตว์ป่วยไปแปรรูป อีกทั้งทำความเข้าใจเกษตรกรว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ช่วยเหลือค่าชดเชยสุกรเป็นรายตัว โดยประเมินตามราคาตลาดแบ่งเป็น หมูแม่พันธุ์ หมูตั้งท้อง หมูสาว เมื่อทำลายสุกรแล้ว ทางสมาคมจะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 1-2 วัน
ทั้งนี้ข้อมูลจากจังหวัดเชียงรายระบุว่า ได้ยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF ในพื้นที่เสี่ยง 5 อำเภอคือ อำเภอแม่สาย เชียงแสน แม่จัน เวียงแก่น และเทิง ล่าสุดได้ขยายไปยังอีก 3 อำเภอที่เป็นเขตชายแดนที่ติดกันคือ อำเภอเชียงของ แม่ฟ้าหลวง และเวียงเชียงรุ้ง แม้ 3 อำเภอนี้ยังไม่มีการล้มป่วยของสุกร
ปัจจุบันข้อมูลจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) รายงานว่า มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรใน 24 ประเทศทั่วโลกประกอบด้วยในทวีปยุโรป 12 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และทวีปเอเชีย 7 ประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบการระบาดของโรคในเวียดนาม ลาว กัมพูชาและเมียนมา . – สำนักข่าวไทย