กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – รมช.เกษตรฯ ห่วงเด็กนักเรียนชาวเขา อ. เวียงแก่น จ. เชียงราย ตรวจพบสารพิษในเลือด คาดปนเปื้อนในผักที่ปรุงเป็นอาหาร รับเป็นตัวแทนระดมทุกหน่วยงาน ทำให้พื้นที่เกษตรปลอดสารเคมี ลั่นต้องแก้ทันทีเพื่อแผ่นดินที่ดีของเรา
น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารโรงเรียน ปอวิทยา อ.เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย กรณีตรวจพบสารพิษในเลือดนักเรียนจำนวนมาก คาดว่าปนเปื้อนในผักที่นำมาปรุงเป็นอาหาร โดยนายเอกราช ลือชา ผู้อำนวยการโรงเรียนปอวิทยานำเสนอเรื่อง การปลูกผักปลอดสารพิษในโรงเรียนเพื่อเป็นวัตถุดิบทำอาหารกลางวันให้นักเรียน และนักเรียนประจำซึ่งเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ม้ง ไทลื้อ และขมุ ที่ผ่านมาโรงเรียนพยายามปลูกผักให้นักเรียนประกอบอาหารเอง แต่ไม่เพียงพอและได้ประสานกับเกษตรกรโครงการหลวงเพื่อซื้อผักมาเสริม แต่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องซื้อจากตลาด ซึ่งไม่สามารถรับประกันเรื่องความปลอดภัยได้
เภสัชกรหญิงไพลิน สาระมน หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรโรงพยาบาลเวียงแก่น กล่าวว่า เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอเวียงแก่นสำรวจพบว่า ผักและผลไม้ที่ขายในตลาดทั่วไปของอำเภอเวียงแก่นมีสารเคมีปนเปื้อน จากการสุ่มตรวจสุขภาพประชาชนเมื่อปี 2553 กลุ่มตัวอย่าง 900 คน พบ ผู้ที่มีสารพิษในเลือดถึงร้อยละ 38
น.ส.มนัญญา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหานี้ต้องดำเนินการในนามรัฐบาล เพื่อบูรณาการทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ตนเองนั้นกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้สารเคมีทางการเกษตร จึงเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง วันนี้ได้พบกรณีตัวอย่างจากปัญหาการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร ซึ่งจะต้องแก้ไขให้สำเร็จ
“ที่อุทัยธานีมีตลาดปลอดสารพิษควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตรตั้งแต่ในแปลง ขายในจังหวัดและส่งตลาดไทย การปลูกพืชแลผลไม้แบบไม่ใช้สารเคมีนั้นทำได้ ต้องเริ่มทันที สำหรับโรงเรียนแห่งนี้จะติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหา จากที่ฟังความคิดเห็นของอาจารย์เห็นว่าพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากคนในท้องถิ่น แล้วขยายไปสู่การทำเพื่อแผ่นดินไทย” น.ส.มนันญา กล่าว
นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่า โครงการ “เด็กดอย” ดำเนินการมาเป็นปีที่ 4 ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลการตรวจเลือดของเด็กนักเรียนที่พบสารเคมีระดับสูงนั้น เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของประชากรทั้งหมดในพื้นที่อำเภอเวียงแก่นและจังหวัดเชียงรายที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการบริโภคผักผลไม้ รวมถึงอาหารอื่นที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย แม้จะมีโครงการส่งเสริมการผลิตพืชผักปลอดภัยโดยกลุ่มเกษตรกร from farm to school แล้ว ผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาในเชิงระบบคือ การจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่สูงซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ โดยต้องควบคุมการใช้สารเคมีอย่างเข้มงวดเพราะหากใช้ตั้งแต่แหล่งต้นน้ำจะส่งผลกระทบไปถึงพื้นที่ทางตอนล่างเป็นบริเวณกว้างด้วย.-สำนักข่าวไทย