กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – ปีงบ 63 กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้ายุทธศาสตร์สร้างมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตรไทยผ่านความร่วมมือประชารัฐด้วยงบประมาณหลักพันล้านบาท
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมจะทุ่มงบประมาณหลักพันล้านบาทจากงบประมาณรวมทั้งกระทรวงที่ขอไป 14,000 ล้านบาท มาใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตรไทยตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปัจจุบันภาคการเกษตรเป็นภาคที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุดในเศรษฐกิจประเทศ แต่มูลค่ารวมของภาคเกษตรกลับมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีไม่มาก โดยระหว่างนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตร คาดว่ายุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนจะได้ข้อสรุปเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืนควรจะดำเนินการต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3-4 ปี ในรูปแบบประชารัฐ สำหรับตัวอย่างรูปแบบที่อาจพิจารณานำมาใช้ในการขับเคลื่อนแนวทางหนึ่งที่อยู่ระหว่างเลือก คือ การเข้าไปต่อยอดเกษตรกรไทยที่ประสบความสำเร็จในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตอยู่แล้ว ให้มีการขยายออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
นายพสุ ยังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) OIE Forum 2019 และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง สศอ.กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี ดี แบงก์) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเงินทุนรวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันผ่านระบบ i-industry ซึ่งป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรมไว้ด้วยกันในลักษณะของฐานข้อมูล Big Data
นายพสุ กล่าวถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก ว่า มี 5 แนวทางสำคัญ คือการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นในประเทศ ต่อยอดนโยบายในส่วนที่มีการดำเนินการไปแล้ว สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการลงทุนจากประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและญี่ปุ่น การยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ให้เติบโตและเข้มแข็ง พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ตอบโจทย์วิถีไทย สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเตรียมยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการ 6,400 ราย คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจถึงกว่า 1,050 ล้านบาท และจากการลงนามบันทึกข้อตกลงข้างต้นผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของตนเอง
การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ เพื่อยึดโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมกับศักยภาพเชิงพื้นที่และกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค โดยการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ SEZ ชูโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเกษตรเชื่อมโยงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมกับอุตสาหกรรม การส่งเสริมการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสถานประกอบการผ่านโครงการ Factory 4.0 การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาระบบจัดการกากอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ
การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government โดยเร่งนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการและปฏิบัติงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ เช่น ระบบการยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ ระบบการชำระค่าบริการออนไลน์ Eco Sticker รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลและโครงข่ายการให้บริการในด้านต่าง ๆ ของกระทรวงฯ โดยใช้ดิจิทัล หรือระบบ i-Industry ซึ่งการปฏิรูปนี้จะเกิดขึ้นทั่วประเทศภายในปีนี้.- สำนักข่าวไทย