ภูมิภาค 10 ก.ย. – สถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน ที่ จ.อุบลราชธานี แม่น้ำมูลล้นตลิ่ง ท่วมสูงใกล้เคียงปี 2545 ชาวบ้านขนย้ายข้าวของมาอาศัยริมถนน ขณะที่หลายหมู่บ้าน ต.นาเลิง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ยังคงได้รับผลกระทบจากลำน้ำชีล้นฝั่งมา 3 วันแล้ว ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนที่ จ.พิจิตร แม่น้ำยมล้นตลิ่ง 4 อำเภอ จมน้ำ
แม่น้ำมูลล้นตลิ่ง ท่วมสูงใกล้เคียงกับปี 2545
สถานการณ์แม่น้ำมูลที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง ทำให้ชาวชุมชนริมแม่น้ำมูลวัดบูรพา ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี ต้องขนย้ายข้าวของขึ้นมาอาศัยอยู่ริมถนนสะพาน 100 ปี พระศรีนครินทร์ เพราะขณะนี้แม่น้ำมูลล้นตลิ่งกว่า 3 เมตร ระดับน้ำมีแนวโน้มขึ้นแบบชะลอตัวจากเดิมชั่วโมงละ 2 เซนติเมตร เป็นชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร
ร.ต.บรรพต กุลเกลี้ยง อายุ 65 ปี หัวหน้าชุมชนวัดบูรพา กล่าวว่า ระดับน้ำที่ท่วมสูงของปีนี้มีระดับใกล้เคียงกับปี 2545 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน ซึ่งมีระดับน้ำสูง 10.77 เซนติเมตร ทำให้ชาวชุมชนเริ่มมีอาการเครียด เพราะต้องลาหยุดงานมาขนของหนีน้ำที่ท่วมสูง และยังมีปัญหาต้องรอคิวเรือที่เทศบาลนครอุบลราชธานีมาช่วยขนของออกจากบ้าน ทำให้คนในชุมชนมีความเครียด และส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้า จึงต้องการขอรับบริจาคยาสามัญประจำบ้านเพิ่มเติม เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงนี้
วางกระสอบทรายยาว 10 กม. กันน้ำชีเข้าหมู่บ้าน
หลายหมู่บ้าน ต.นาเลิง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ยังคงได้รับผลกระทบจากลำน้ำชีที่เริ่มล้นฝั่ง 3 วันติดต่อกันแล้ว ระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องตั้งจุดพักพิงเพื่อเตรียมรองรับ ต้องอพยพสูงอายุและเด็กส่วนหนึ่งออกมายังจุดพักพิงที่ปลอดภัย ขณะที่ชาวบ้านเร่งระดมใช้กระสอบทรายกั้นน้ำตลอดแนวลำน้ำชี เป็นทางยาวกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อป้องกันหมู่บ้านและพื้นที่นาข้าวที่ปักดำไปแล้ว
ส่วนสิ่งของอุปโภคบริโภคที่มีผู้นำมาช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับชาวบ้าน เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องลำเลียงของจากรถลงเรือหลายต่อกว่าจะนำส่งถึงมือผู้ประสบภัยได้
แม่น้ำยมล้นตลิ่ง ส่งผลให้ 4 อำเภอ จ.พิจิตร ยังถูกน้ำท่วม
ส่วนทางภาคเหนือ 4 อำเภอ จ.พิจิตร ประกอบด้วย อ.สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และ อ.โพทะเล ถูกน้ำท่วมมาหลายวันแล้ว เนื่องจากแม่น้ำยมล้นตลิ่ง นายอภิรักษ์ ศรีกุลวงศ์ ชลประทานจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ต้องเร่งผันน้ำจากแม่น้ำยมให้ไหลผ่านลำคลองชลประทาน DR 2.8 ซึ่งเป็นลำคลองเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน และตั้งอยู่ใน ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม พร่องระบายน้ำจากแม่น้ำยมให้ไหลลงแม่น้ำน่าน ในอัตรา 120 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อช่วยลดผลกระทบน้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่ง. – สำนักข่าวไทย